9 แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ “สารสนเทศอัตลักษณ์ มสธ.” เรียนรู้แบบวิถีใหม่ยุคโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” (Omicron) ในประเทศไทย ที่มีการแพร่ระบาดพบผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 ทำให้สถานศึกษาหลายๆ แห่งต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา และพร้อมรับกับทุกสถานการณ์“แหล่งเรียนรู้ออนไลน์” เป็นอีกหนึ่งช่องทางการให้บริการสารสนเทศของห้องสมุด มสธ. ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการ ให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สำหรับ “สารสนเทศอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” เป็นสารสนเทศเฉพาะด้านที่บ่งชี้ความเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ ได้แก่ สารสนเทศจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย สารสนเทศศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน สารสนเทศพระปกเกล้าศึกษา สารสนเทศการศึกษาทางไกล และสารสนเทศนนทบุรีศึกษา ซึ่งห้องสมุด มสธ. ได้มีการพัฒนาสู่รูปแบบแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีความทันสมัย รวมถึงเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)   

ห้องสมุด มสธ. ขอแนะนำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ด้านสารสนเทศอัตลักษณ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทั้งหมด 9 แหล่ง โดยแบ่งเป็น 5 หมวดสารสนเทศ ดังนี้

หมวดที่ 1 สารสนเทศพระปกเกล้าศึกษา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยนาม “สุโขทัยธรรมาธิราช” เป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามพระนามเดิมของรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ “กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” และมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระราชลัญจกร (ตรา) ประจำรัชกาลที่ 7 เป็นส่วนหนึ่งของตราประจำมหาวิทยาลัย ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สำนักบรรณสารสนเทศ จึงได้จัดตั้งห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมกับรวบรวมสารสนเทศเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล เว็บไซต์ ฐานข้อมูล และนิทรรศการ เป็นต้น

1. พระปกเกล้าศึกษา

เว็บไซต์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยาวัตร พร้อมกับแนะนำห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี หรือห้องเอกสารรัชกาลที่ 7 และสามารถเยี่ยมชมนิทรรศถาวรภายในห้องรูปแบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง 360 องศา นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการออนไลน์หลากหลายเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์

Source : https://library.stou.ac.th/odi/rama-7/index.html

2. ฐานข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุพระปกเกล้าศึกษา

ฐานข้อมูลที่ให้บริการสืบค้นเอกสารจดหมายเหตุในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468-2477) ซึ่งสำนักบรรณสารสนเทศ ได้จัดหาและรับมอบเอกสารจดหมายเหตุทั้งที่เป็นสำเนาและต้นฉบับ จากหน่วยงานและบุคคลที่เป็นเจ้าของเอกสารหรือครอบครองเอกสารนั้นอยู่ เช่น หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สำนักราชเลขาธิการ เป็นต้น มาจัดเก็บในห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

Source : http://ereserves.stou.ac.th/archiveKing7/a1_main/main.html

3. คลังสารสนเทศดิจิทัล พระปกเกล้าศึกษา

ฐานข้อมูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพากเพียรเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศดิจิทัลเกี่ยวกับพระราชประวัติ ภาพถ่าย และหนังสือส่วนพระองค์ ซึ่งหนังสือถือเป็นสมบัติของชาติอันทรงคุณค่าและหายาก ที่สำนักบรรณสารสนเทศได้รับมอบมาจากคุณหญิงมณี สิริวรสาร อดีตหม่อมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชบุตรบุญธรรมผู้รับพระราชมรดกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้ดำเนินการอนุรักษ์หนังสือส่วนพระองค์ และแปลงหนังสือสู่รูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสามารถอ่านได้สะดวกและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

Source : https://repository.stou.ac.th/handle/6625047444/1353

หมวดที่ 2 สารสนเทศจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย

เอกสารและสื่อประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวกับประวัติ การดำเนินงานและเหตุการณ์สำคัญของมหาวิทยาลัย เป็นสารสนเทศที่สะท้อนถึงคุณค่าทั้งในแง่การบริหารงาน ทางการเงิน ทางกฎหมาย และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย

4. จดหมายเหตุบอกเล่า

เว็บเพจบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นการนำเอกสารจดหมายเหตุมาถ่ายทอดเป็นสารสนเทศออนไลน์ในรูปแบบบทความ โดยแบ่งเป็น 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์กับ มสธ. ประวัติความเป็นมา จดหมายเหตุมหาวิทยาลัย พัฒนาการก้าวหน้า แหล่งศึกษาเพื่อปวงชน และบริการสังคมให้วัฒนา ซึ่งสะท้อนถึงประวัติความเป็นมาและอัตลักษณ์ของความเป็น มสธ. ได้เป็นอย่างดี

Source : https://library.stou.ac.th/odi/STOUArchive/index.html

5. ทะเบียนจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย

ฐานข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการแปลงมาจากเอกสารจดหมายเหตุต้นฉบับ ให้บริการทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ เอกสารราชการ โสตทัศนวัสดุ สิ่งพิมพ์มหาวิทยาลัย และเอกสารส่วนบุคคล โดยสามารถสืบค้นเรียกดู และดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงสารสนเทศจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

Source : http://ereserves.stou.ac.th/archives_dream2/general/main_archives.php

หมวดที่ 3 สารสนเทศศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมการศึกษาของไทย มีผลงานทางวิชาการดีเด่นทั้งด้านการบริหาร การสอน การเขียนตำรา บทความและงานวิจัย จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในหน่วยงานการศึกษาหลายแห่ง ถือเป็นนักการศึกษาที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นที่ยอมรับจากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

6. นวัตกรรมวิจิตร

เว็บไซต์ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่รวบรวมผลงานสำคัญ ผลงาน “นวัตกรรมวิจิตร” ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการอุดมศึกษา 8 ด้าน กาลานุกรมรางวัลเกียรติคุณ บรรณานุกรมผลงาน และแนะนำแหล่งสารสนเทศดิจิทัลศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้แก่ เว็บไซต์ ฐานข้อมูล และนิทรรศการออนไลน์ รวมถึงบรรณนิทัศน์แนะนำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่หน่วยงานต่างๆ ผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสจัดงานกิตติการ เพื่อเป็นเกียรติและแสดงมุทิตาจิตสำหรับจุดเด่นของเว็บไซต์ได้ออกแบบเป็น Responsive Web Design ที่แสดงผลได้อย่างสวยงามและสามารถรองรับทุกอุปกรณ์

Source : https://library.stou.ac.th/wichit/

7. คลังสารสนเทศดิจิทัล ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน

ฐานข้อมูลที่รวบรวมประวัติ ผลงาน และกิตติการทางด้านวิชาการของศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบในรูปแบบสารสนเทศดิจิทัลฉบับเต็ม (Full Text) ประกอบด้วย หนังสือ บทความ บทบรรยาย ปาฐกถา บทสัมภาษณ์ และเอกสารนำเสนอ เป็นต้น ซึ่งมีคุณค่าและแง่คิดที่เป็นประโยชน์สะท้อนภาพการศึกษาไทย

Source : https://repository.stou.ac.th/handle/6625047444/939

หมวดที่ 4 สารสนเทศการศึกษาทางไกล

8. การศึกษาทางไกล

เว็บเพจที่รวบรวมสารสนเทศเฉพาะด้านการศึกษาทางไกล ซึ่งระบบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ใช้เป็นระบบการเรียนการสอน เป็นการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาทางไกลและเผยแพร่ในรูปแบบบทความ โดยเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎี คำศัพท์ และแหล่งทรัพยากรเพื่อการสนับสนุนการเรียนทางไกล แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด รวบรวมรายชื่อองค์กร/หน่วยงานด้านการศึกษาทางไกล รวมถึงแนะนำแหล่งรวม Open Access Journals เพื่อช่วยในการค้นหาบทความวารสารดานการศึกษาทางไกลได้อย่างสะดวก

Source : https://library.stou.ac.th/odi/ODIDistance/menu1.html

หมวดที่ 5 สารสนเทศนนทบุรีศึกษา

9. นนทบุรีศึกษา

แหล่งรวบรวมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ชุดนนทบุรีศึกษา เป็นผลผลิตจากโครงการการจัดการสารสนเทศจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาของสำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยผลงานได้พัฒนาจากการจัดการองค์ความรู้จากปราชญ์ท้องถิ่นให้เป็นสารสนเทศบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดนนทบุรี เพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และตระหนักในคุณค่าของท้องถิ่น นอกจากนี้ หนังสือ “นนทบุรีศรีมหานคร” หนึ่งในหนังสือชุดนี้ ยังได้รับรางวัลระดับประเทศ รางวัลดีเด่นกลุ่มหนังสือสารคดี ในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2561 ซึ่งถือเป็นรางวัลที่การันตีคุณภาพและคุณประโยชน์ของหนังสือชุดนนทบุรีศึกษาได้เป็นอย่างดี

Source : https://library.stou.ac.th/special-collections/nonthaburi-study/

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

หน่วยจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย ฝ่ายบริการสนเทศ
02-504-7467-68
libinfoservice@stou.ac.th

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น