นายชัยวัฒน์ น่าชม ผู้อำนวยการคนที่ 8 ของสำนักบรรณสารสนเทศ (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564)

STOULIB Postcard No.25

นายชัยวัฒน์ น่าชม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ห้องสมุดปรับตัวเพื่อให้ทันในยุค New Normal และ Next Normal โดยเปลี่ยนการให้บริการห้องสมุดเป็นรูปแบบออนไลน์

ประวัติ ท่านสำเร็จการศึกษาปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มรับราชการที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2538 ในสังกัดสำนักบรรณสารสนเทศ ท่านเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ และประสบการณ์หลากหลายในงานสำนักบรรณสารสนเทศ ทั้งงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ งานอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และงานเทคนิคห้องสมุด จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยงาน 3 ฝ่าย/ศูนย์ ในสำนักฯ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีบรรณสารสนเทศ ฝ่ายบริการสนเทศ และฝ่ายเทคนิค ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ และผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564

ในช่วงปี พ.ศ. 2563 เป็นปีที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบมาสู่ห้องสมุดในด้านการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก และทำให้ห้องสมุดเผชิญกับอุปสรรคและโอกาสใหม่ในการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการในช่วงเวลานั้น ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวกในการใช้บริการรูปแบบที่อยู่ที่ไหนก็สามารถใช้บริการห้องสมุด มสธ. ได้ และถึงแม้ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2562-2564 นั้น จะเป็นช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสอย่างรุนแรง แต่กลับเป็นโอกาสของห้องสมุด มสธ. ที่ได้ปรับตัวและมีพัฒนาการในด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติงานและการให้บริการทางออนไลน์เป็นอย่างมาก

ผลงานในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ท่านเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันและส่งเสริมให้ห้องสมุด มสธ. มีพัฒนาการด้านการปฏิบัติงานและให้บริการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีบรรณสารสนเทศ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ของห้องสมุด เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการทำงานแนวใหม่ในยุค Next Normal ให้กับบุคลากรทั้งภายในและภายนอกสำนักฯ นับเป็นการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ที่เป็นประโยชน์และสนับสนุนวิถีการทำงานในปัจจุบันและอนาคต เพื่อนำมาประยุกต์กับงานห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และอีกพัฒนาการที่สำคัญ คือ การให้บริการต่าง ๆ ของห้องสมุดผ่านช่องทางออนไลน์รูปแบบต่างๆ การจัดบริการสอน/แนะนำการค้นคว้าทางวิชาการโดยบรรณารักษ์ ด้วยหลักสูตรที่หลากหลายเพื่อช่วยให้นักศึกษา และบุคลากรสามารถใช้บริการสื่อการศึกษาและบริการห้องสมุด และเพิ่มทักษะการค้นคว้าทางวิชาการ และยังมีการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ใช้บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้าทางออนไลน์บนหน้าเว็บไซต์ของห้องสมุดและ Smart Devices ต่างๆ ให้มากขึ้น

สำหรับงานด้านอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยและภูมิปัญญาท้องถิ่นของห้องสมุดและข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) ท่านได้เป็นประธานคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคถึง 3 วาระ เป็นระยะเวลา 6 ปี และได้รับเกียรติบัตรเข็มเชิดชูเกียรติ (รางวัลครุฑทองคำ) ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2558 เกียรติบัตรบุคลากรดีเด่นของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปี 2558 และเกียรติบัตรรับรองการเป็น Talented People in STOU ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และด้านการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

? บทความวิชาการ “ถอดบทเรียนการจัดการความรู้ในงานเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระหว่างปี 2553-2556” ??bit.ly/3UsidH0
? บทความวิจัย “การจัดการสารสนเทศพระปกเกล้าศึกษา: 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก” ??bit.ly/3f5LK9c
? บทความวิชาการ “จากปูม…สู่ภูมิ…สู่ความยั่งยืน” ??bit.ly/3C06k3P
? หนังสือ “20 ปี บรรณสาร พัฒนาการที่ภาคภูมิ” ??bit.ly/3LhZXe7

ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจ

เป็นการเล่าเรื่องจากภาพถ่ายในรูปแบบโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (Postcard) จำนวน 100 ใบ ร้อยเรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่อดีตปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ: ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติ พัฒนาการ โครงการ/กิจกรรม และความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุด รวมถึงเป็นการอำลาอาคารบรรณสาร (เดิม) ก่อนย้ายเข้าสู่ที่ทำการแห่งใหม่ ณ “อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.”

ติดตาม โครงการ “ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” ได้ที่

เรียบเรียงโดย

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

[sc name=”libinfoservice” ][/sc]

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น