รองศาสตราจารย์ สมพิศ คูศรีพิทักษ์ ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักบรรณสารสนเทศ (1 เมษายน 2529 – 30 มิถุนายน 2537)

รองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ เป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มวางรากฐานให้กับ “ศูนย์บรรณสารสนเทศ” ในฐานะหัวหน้าศูนย์บรรณสารสนเทศ ซึ่งเป็นบรรณารักษ์เพียงผู้เดียวในช่วงเริ่มเปิดดำเนินการห้องสมุด

ประวัติ

ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท สาขาบรรณารักษศาสตร์ จาก Florida State University เริ่มทำงานแห่งแรกที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2506-2511 ในตำแหน่งบรรณารักษ์ช่วยค้นคว้า ต่อมาใน พ.ศ. 2511-2512 ได้เดินทางไปดูงานห้องสมุดบางแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาอังกฤษ และมาเลเซีย ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทและได้ทำงานเป็นผู้ช่วยแผนกหนังสือไทยของ Yale University หลังจากนั้นจึงได้กลับมาดำรงตำแหน่งอาจารย์และหัวหน้าหน่วยฝ่ายบริการ สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และเมื่อ พ.ศ. 2521 ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเริ่มจัดตั้ง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีห้องสมุดให้คณาจารย์ได้ใช้ค้นคว้าเพื่อพัฒนาหลักสูตรและผลิตเอกสารการสอน มหาวิทยาลัยจึงได้ขอยืมตัว รองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ มาดำเนินงานด้านการจัดบริการบริหารห้องสมุดในฐานะหัวหน้าศูนย์บรรณสารสนเทศภายใต้สำนักเทคโนโลยีการศึกษา และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 “ศูนย์บรรณสารสนเทศ” ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น “สำนักบรรณสารสนเทศ” จึงได้มีการสรรหาและแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ เป็น “ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักบรรณสารสนเทศ” โดยดำรงตำแหน่งถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2537

ในระยะเวลากว่า 16 ปี ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารงานของ รองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ ช่วงเวลานั้นห้องสมุด มสธ. ได้มีพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน ทั้งอาคารสถานที่ เนื้อหาสาระให้ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของผู้รับบริการ สร้างเครือข่ายการให้บริการห้องสมุด ทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัดและระดับภาคให้ความเข้มแข็ง อาทิ การเพิ่มแหล่งค้นคว้าสำหรับนักศึกษาในระบบการสอนทางไกลโดยจัดตั้ง “ศูนย์บริการการศึกษา มสธ.” ตามวิทยาลัยครูทั่วประเทศ เพิ่มความสะดวกแก่นักศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นโดยขอความร่วมมือกับห้องสมุดประจำจังหวัดทั่วประเทศ ก่อให้เกิด “มุม มสธ.” และเมื่อจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยได้เห็นสมควรจัดตั้ง “ศูนย์วิทยบริการ” ซึ่งในระยะแรกเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักบรรณสารสนเทศ นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการที่สำคัญอีกด้านคือ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวครั้งสำคัญ เพราะห้องสมุดก้าวเข้าสู่ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ซึ่งห้องสมุดได้ทดสอบการใช้คอมพิวเตอร์กับงานห้องสมุดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 จนในปี พ.ศ. 2537 จึงได้พิจารณาเลือกใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ VTLS (Virginia Tech Library System) มาใช้ดำเนินงานห้องสมุด

ในการบริหารงานช่วงนั้นท่านให้ความเห็นว่า ศูนย์บรรณสารสนเทศเป็นห้องสมุดที่ตั้งขึ้นใหม่มีข้อได้เปรียบตรงที่สามารถดูตัวอย่างจากห้องสมุดอื่น ๆ ที่ตั้งมาก่อน รู้ว่าอะไรเป็นปัญหาจึงพยายามหลีกเลี่ยงและอะไรที่เป็นข้อดีก็นำมาปฏิบัติโดยเฉพาะงานด้านบริหารบุคคล จะพยายามสร้างแม่แบบที่ดีเพื่อให้บุคลากรใหม่ทำรายละเอียดงานให้ชัดเจนพยายามไม่ให้มีช่องว่างระหว่างบุคลากรสายงานต่าง ๆ และให้การสนับสนุนความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างยุติธรรม

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

? บทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์สมพิศ คูศรีพิทักษ์ หัวหน้าศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักเทคโนโลยีการศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช bit.ly/3PDhUWZ
? การนำเสนอรูปแบบการจัดตั้งหน่วยบริการการศึกษาเคลื่อนที่ สำหรับระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช bit.ly/3Q5B9YY
? เทคโนโลยีกับงานสนเทศ : ประสบการณ์จากการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ bit.ly/3cUijGd
? หนังสือ “20 ปี บรรณสาร พัฒนาการที่ภาคภูมิ” bit.ly/3LhZXe7

ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจ

เป็นการเล่าเรื่องจากภาพถ่ายในรูปแบบโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (Postcard) จำนวน 100 ใบ ร้อยเรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่อดีตปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ: ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติ พัฒนาการ โครงการ/กิจกรรม และความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุด รวมถึงเป็นการอำลาอาคารบรรณสาร (เดิม) ก่อนย้ายเข้าสู่ที่ทำการแห่งใหม่ ณ “อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.”

ติดตาม โครงการ “ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” ได้ที่

เรียบเรียงโดย

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

[sc name=”libinfoservice” ][/sc]

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น