รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล ผู้อำนวยการคนที่ 6 ของสำนักบรรณสารสนเทศ (29 พฤศจิกายน 2547 – 29 กรกฎาคม 2555)

รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาในเชิงวิชาการและวิชาชีพ และขยายความร่วมมือของเครือข่ายห้องสมุด ผู้ริเริ่มผลักดันให้ห้องสมุดเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายแหล่งสารสนเทศดิจิทัลสู่ห้องสมุดชุมชน รวมทั้งยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล

ประวัติ ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ท่านได้เข้ารับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ของศูนย์บรรณสารสนเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2526 และได้ไปศึกษาระดับปริญญาโท Library Studies จาก University of Hawaii at Manoa ด้วยทุน East – West Center และระดับปริญญาเอก Library and Information Science จาก Indiana University ด้วยทุนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก ปี พ.ศ. 2537 ท่านได้ย้ายมาปฏิบัติราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เป็นกำลังสำคัญในการจัดการศึกษาหลักสูตรแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ และได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบรรณสารสนเทศ 2 สมัย ระหว่าง 29 พฤศจิกายน 2547 – 29 กรกฎาคม 2555

ระยะเวลา 8 ปี ภายใต้การดูแลของท่านนั้น ห้องสมุด มสธ. ได้พัฒนาในเชิงวิชาการและวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์จนมีผลงานในเชิงนวัตกรรมเป็นจำนวนมากและหลากหลายประเภท นับตั้งแต่งานวิจัยในโครงการแรกจนถึงผลสำเร็จของโครงการบริการวิชาการแก่สังคม รวมถึงมีการพัฒนาด้านความร่วมมือของเครือข่ายห้องสมุด อาทิ ในปี พ.ศ. 2548 มีโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบแหล่งสารสนเทศดิจิทัลสู่ห้องสมุดชุมชน เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพากเพียรเรียนรู้ตลอดชีวิต และห้องสมุด มสธ. ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) โดยเป็นสมาชิกลำดับที่ 15 ซึ่งเป็นการขยายการให้บริการห้องสมุดระดับบัณฑิตศึกษาในส่วนภูมิภาคให้กว้างขว้างยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ. 2549 มีโครงการวิจัยการพัฒนาเครือข่ายบริการองค์ความรู้และสารสนเทศดิจิทัลสู่ชุมชน และเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี สำนักบรรณสารสนเทศ จึงได้มีการจัดทำหนังสือ “20 ปี บรรณสารที่ภาคภูมิ” ขึ้นเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ซึ่งในหนังสือได้รับความกรุณาจากท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยในอดีต รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยและบุคลากรของสำนักบรรณสารสนเทศ นำเสนอความรู้และประสบการณ์ตรงมาเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า ใน พ.ศ. 2550-2552 มีโครงการวิจัยการจัดการสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนทบุรีศึกษา เพื่อส่งเสริมบริการห้องสมุดสู่ชุมชน พ.ศ. 2553 โครงการวิจัยการพัฒนาสารสนเทศและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาเกี่ยวกับประวัติชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในอำเภอบางบัวทอง นอกจากนี้ยังมีโครงการบริการวิชาการแก่สังคมอีก 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนนทบุรีศึกษาสู่ชุมชน โครงการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลผลงานบุคคลสำคัญด้านอุดมศึกษาไทย และโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการบุคลากรเครือข่ายบริการห้องสมุดสมัยใหม่

นับว่าในช่วงปีที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งนั้นห้องสมุดได้พัฒนาต้นแบบและพัฒนาเครือข่ายบริการองค์ความรู้แหล่งสารสนเทศดิจิทัลสู่ห้องสมุดชุมชน โดยมีการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลและสร้างผลผลิตสำคัญกลายเป็นนวัตกรรมบรรณสารมากมายและเป็นสื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ เช่น หนังสือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นิทรรศการออนไลน์ นิทรรศการเคลื่อนที่ และการนำเสนอผลงานในการประชุมสัมมนาทางวิชาการ

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา มสธ. ในฐานะผู้บริหารระดับสูง คือ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและสนับสนุนการเรียนรู้ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย บรรณสารสนเทศ และวิเทศสัมพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายในคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา มสธ. กรรมการบริหารกองทุน มสธ. 12 ปี และมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูป มสธ. สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สมบูรณ์แบบในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป มสธ.

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

? การบรรยายทางวิชาการ เรื่อง Librarian Competency & Digital Skills โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล ??bit.ly/3cYKsMq
? หนังสือ “20 ปี บรรณสาร พัฒนาการที่ภาคภูมิ” ??bit.ly/3LhZXe7
? หนังสือ “นวัตกรรมบรรณสาร พ.ศ. 2548-2555”

ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจ

เป็นการเล่าเรื่องจากภาพถ่ายในรูปแบบโปสการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (Postcard) จำนวน 100 ใบ ร้อยเรียงเรื่องราวตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่อดีตปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตจาก “โครงการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศ: ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติ พัฒนาการ โครงการ/กิจกรรม และความทรงจำเกี่ยวกับห้องสมุด รวมถึงเป็นการอำลาอาคารบรรณสาร (เดิม) ก่อนย้ายเข้าสู่ที่ทำการแห่งใหม่ ณ “อาคารห้องสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มสธ.”

ติดตาม โครงการ “ร้อยเรื่องเล่า…100 ความทรงจำ…สำนักบรรณสารสนเทศ” ได้ที่

เรียบเรียงโดย

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น