แผนปรับแต่งแปลงโฉม มสธ. พ.ศ. 2565 – 2569 (STOU Reinventing PLAN 2022 – 2026)   

แผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) พ.ศ. 2565-2569 (STOU Reinventing Plan 2022-2026) มีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ เพื่อปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลแบบดิจิทัล และเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคพลิกผัน

ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษากำลังเผชิญกับความท้าทายในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น (Digital Disruption) และเผชิญปัญหาด้านอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ปัญหาจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง วิกฤตเศรษฐกิจ ทางเลือกในการศึกษามีหลากหลายมากขึ้น และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นจึงทำให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเผชิญกับความท้าทายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงนำมาสู่การจัดทำแผนปรับแต่งแปลงโฉมของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นโครงการที่สืบเนื่องต่อขยายมาจากการดำเนินการปฏิรูปมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โดยฉบับแรกเป็นแผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2564-2565 (Reinventing STOU 2021– 2022) ซึ่งมีขอบเขตสำคัญของแผนการดำเนินการ 6 ด้าน ได้แก่

  1. แผนการเพิ่มทางเลือกในการรับโอกาสทางการศึกษาตามการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัย (แผน ก1 ก2 และ ก3)
  2. แผนการปรับแปลงระบบสื่อการสอนจากสื่อประสมเป็นการสอนออนไลน์สมบูรณ์แบบ (Digital Transformation)
  3. แผนการส่งเสริมการศึกษาทางไกลแบบสะดวกเรียนและสะดวกรู้
  4. แผนการพัฒนามหาวิทยาลัยตามข้อกำหนดสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ และตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2521
  5. แผนการเพิ่มจำนวนนักศึกษาและผู้เรียน
  6. แผนการเพิ่มรายรับและลดรายจ่าย งบประมาณและการเงิน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนด้านการเงินและทรัพย์สิน

ผลการดำเนินการตามแผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2564-2565 ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจในด้านการปรับระบบการเรียนการสอน การสอบ และการประเมินผลการศึกษาทุกระดับ โดยเน้นการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และระบบดิจิทัลมากขึ้น พัฒนาระบบรับสมัครโดยเน้นการรับสมัครในระบบออนไลน์ ปรับปรุงระบบการเงิน โดยเน้นการรับจ่ายเงินผ่านสถาบันการเงินและ One Stop Service รวมถึงการปรับระบบการให้บริการนักศึกษาเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการนักศึกษา

แผนปรับแต่งแปลงโฉม มสธ. พ.ศ. 2565 – 2569

อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยยังคงประสบกับปัญหาที่สำคัญคือ นักศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรีมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องและจำนวนนักศึกษาออกกลางคันที่ไม่ลงทะเบียนในแต่ละปีการศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อรายรับของมหาวิทยาลัยอย่างมาก ฉะนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาวิกฤติดังกล่าว มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชต่อเนื่องจากฉบับแรกคือ มีการจัดทำแผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2565-2569 (STOU Reinventing Plan 2022-2026) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ เพื่อปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลแบบดิจิทัลและเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคพลิกผัน โดยเน้นประเด็นสำคัญใน 4 แผนงาน ดังนี้

แผนปรับแต่งแปลงโฉม มสธ. พ.ศ. 2565 – 2569 (STOU Reinventing PLAN 2022 – 2026)

         

1) แผนงานการเพิ่มทางเลือกในการรับโอกาสทางการศึกษา (ก1 ก2 และ ก3) และการเพิ่มจำนวนนักศึกษา/ผู้เรียน

มีเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีให้ได้ร้อยละ 5 ลดอัตราการออกกลางคันให้เหลือร้อยละ 2 เพิ่มจำนวนนักศึกษาใหม่ทั้งในระดับต่ำกว่าปริญญาและปริญญาตรีให้ได้ร้อยละ 3 และนักศึกษาแผน ก2 และ ก3 ที่สอบผ่านมีจำนวนร้อยละ 70 ของผู้เข้าเรียน ทั้งนี้มีกลยุทธ์ที่จะนำไปปฏิบัติ ได้แก่ การใช้แผนการเรียนการสอนที่เป็น ก1 ก2 และ ก3 ในรูปแบบใหม่ ออกแบบแผนการเรียนโดยสร้าง Journey ของชุดวิชาเพื่อช่วยเพิ่มจำนวนนักศึกษาให้สอบผ่าน จัดทำระบบให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา ตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาจนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงกับสมรรถนะของผู้เรียน ออกแบบระบบการศึกษาทางไกลที่เน้นแนวคิดการจัดการศึกษาที่แตกต่าง ขยายผู้เรียนในกลุ่มอายุ 18 ปี ในรูปแบบทดลองเรียน จัดระบบผ่อนชำระค่าลงทะเบียน เทียบผลการศึกษาและประสบการณ์การทำงานเข้ากับระบบคลังหน่วยกิตและมีมาตรการกระตุ้นให้นักศึกษาที่พ้นสภาพให้กลับมาศึกษาต่อ รวมถึงการทำการตลาดผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น

2) แผนงานการจัดการสอนออนไลน์สมบูรณ์แบบ และบริการดิจิทัลเพื่อสะดวกเรียนสะดวกรู

มีเป้าหมายสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนให้เป็นชุดวิชาออนไลน์สมบูรณ์แบบ พัฒนาระบบการให้บริการนักศึกษาและผู้เรียนแบบดิจิทัล และสร้างความพึงพอใจและความผูกพันของนักศึกษา/ผู้เรียนกับมหาวิทยาลัยให้อยู่ในระดับดีมาก ทั้งนี้มีกลยุทธ์ที่จะนำไปปฏิบัติ ได้แก่ การออกแบบ digital student service journey เป็นออนไลน์ตั้งแต่เริ่มเข้าจนสำเร็จการศึกษา พัฒนาระบบติดตามที่เป็น digital service dashboard ในงานบริการนักศึกษา/ผู้เรียน ให้บริการลงทะเบียนและบริการต่างๆ ผ่าน App STOU SISA ต่อยอดการพัฒนาระบบการสอบออนไลน์ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น พัฒนาทักษะดิจิทัลของนักศึกษา/ผู้เรียน รวมถึงคณาจารย์ให้สอดคล้องกับการปรับแต่งแปลงโฉมของมหาวิทยาลัยที่เข้าสู่ระบบการเรียนการสอนออนไลน์สมบูรณ์แบบ และการปรับกระบวนงานหลักและกระบวนงานสนับสนุนให้ส่งต่อในรูปแบบ Digital value chain ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย

3) แผนงานการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย

มีเป้าหมายสำคัญคือ มีหลักสูตรตลอดระยะเวลา 5 ปี ในระดับปริญญาตรีจำนวน 4 หลักสูตรและระดับบัณฑิตศึกษา 4 หลักสูตร มีรายวิชาในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) และมีผลประเมินระดับสมรรถนะ (Competency Outcome) ของนักศึกษา/ผู้เรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ทั้งนี้มีกลยุทธ์ที่จะนำไปปฏิบัติ ได้แก่ การจัดกิจกรรมร่วมเรียนรู้ (Blended Learning) ที่มีการผสมผสานระหว่างรูปแบบเผชิญหน้าและออนไลน์ หรือวิธีการอย่างอื่นที่ผู้ศึกษาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง มีการจัดการเรียนการสอนตามรายวิชาที่นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้อย่างอิสระตามความต้องการ รวมถึงพัฒนาหลักสูตรที่มุ่งผลิตบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะและประสบการณ์ตามความต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับทักษะ (Upskill) ปรับเปลี่ยนทักษะ (Reskill) และเสริมสร้างทักษะใหม่ (New skill) ที่ตอบสนองต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ  

4) แผนงานการเงินของการปรับแต่งแปลงโฉมของมหาวิทยาลัย

มีเป้าหมายสำคัญ คือ ให้มีรายรับสูงกว่ารายจ่ายจากการจัดเรียนการสอนตลอดระยะเวลา 5 ปี เป็นจำนวนเงิน 143.81 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการลงทุน จำนวน 19.45 ล้านบาท โดยมีกลยุทธ์ที่จะนำไปปฏิบัติ ได้แก่ การจัดทำแผนการเพิ่มรายรับและลดรายจ่ายและติดตามประเมินผลให้เป็นไปตามแผนงานและแผนเงิน กำกับและควบคุมต้นทุนของการปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จัดสรรงบประมาณเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยที่เน้น productivity รวมถึงการจัดทำกรอบนโยบายและแผนในการลงทุนด้านการเงินที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยมากขึ้น ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการเงินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแผนงานที่ 1) ถึง แผนงานที่ 3) เพื่อสรุปเป็นแผนการเงินของการปรับแต่งแปลงโฉมของมหาวิทยาลัย ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2569 ที่เป็นข้อมูลประมาณการรายรับ-รายจ่าย (ไม่รวมดอกเบี้ยรับและผลประโยชน์จากการนำเงินออมไปลงทุน) ในสถานการณ์ที่มหาวิทยาลัยจะมีการดำเนินงานตามแผนปรับแต่งแปลงโฉม และนำมาเปรียบเทียบกับการดำเนินงานในรูปแบบเดิม

อย่างไรก็ตามในการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามแผนปรับแต่งแปลงโฉม ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย บุคลากรและนักศึกษานั้น มหาวิทยาลัยจะต้องมีออกแบบระบบ กลไกและความพร้อมของเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามแผนปรับแต่งแปลงโฉมฯ และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะ ปรับเปลี่ยนทักษะ และการยกระดับทักษะ (upskill) ของบุคลากรเพื่อสร้างความพร้อมของคณาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนในการรองรับต่อภารกิจใหม่และภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ให้มีผลกระทบต่ออัตรากำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในส่วนของนักศึกษาจะเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล การประเมิน รวมถึงการสนับสนุนสถานที่และอุปกรณ์ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนการสอนและการสอบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยยังคงมีระบบการจัดการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มนักศึกษาที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ เช่น ผู้ต้องขัง ผู้พิการและผู้ที่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างอื่นให้สามารถเข้าถึงได้โดยผ่านแผนการศึกษา ก1 ในรูปแบบเดิม

ความสำเร็จของแผนปรับแต่งแปลงโฉมฯ จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจในการทำงานของทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย เน้นความจริงจังและบูรณาการการทำงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนจนประสบความสำเร็จของแผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อเป็นฐานของการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะยาวต่อไป  

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

สาระสำคัญของแผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เรียบเรียงโดย    

วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ  

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2565). รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง(ร่าง) แผนปรับแต่งแปลงโฉมมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ. 2565-2569

รายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 http://eservice.stou.ac.th/Edocument/Meetings/University/mixuni.htm

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น