เขียนอย่างไรวิทยานิพนธ์ไม่โดนเท!

ใกล้จะเรียนจบแล้ว แต่ติดตรงที่วิทยานิพนธ์! เจออุปสรรคเยอะ สอบไม่ผ่านสักที ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร? ใครที่กำลังเครียดอยู่ ลองเปิดใจอ่านหนังสือ “เขียนอย่างไรวิทยานิพนธ์ไม่โดนเท” ผลงานการเขียนโดย ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ที่จะพาคุณไปเปิดโลกของการทำวิจัยอย่างลึกซึ้ง ช่วยเสริมให้ผู้วิจัยมีความรู้ความเข้าใจในการทำวิจัย ทั้งเชิงทฤษฎี และได้ฝึกปฏิบัติตามขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดปัญหาของการวิจัย การออกแบบการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ตลอดจนการนำเสนอและการเขียนรายงาน ผู้วิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานวิจัยด้านต่างๆ พร้อมแนะนำเทคนิคทีละขั้นตอน โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็น

บทที่ 1 จากจุดเริ่มต้นถึงจุดหมาย

การตั้งคำถามและใช้ชุดความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด ทั้งหัวข้อที่เรียน หรือทฤษฎีที่ได้ปฏิบัติในหลักสูตร แล้วมาวิเคราะห์หาประเด็นปัญหาที่ผู้วิจัยให้ความน่าสนใจเป็นปัญหาที่ผู้วิจัยมีความรู้จักมักคุ้นสามารถนำเสนอแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น ด้วยการกำหนดองค์ประกอบของการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ โดยมีทฤษฎี และงานวิจัยที่สอดคล้องรองรับ

บทที่ 2 ทำไมถึงเป็นปัญหา

การคัดเลือกเรื่องที่จะศึกษา แนวทางในการพิจารณาคัดเลือกเรื่องที่มีความเหมาะสม การมีเหตุผลอธิบายเรื่องที่สนใจ เช่น ผลการวิจัยมีประโยชน์หรือไม่ สามารถดำเนินการจนจบกระบวนการได้หรือไม่ และผลการวิจัยมีคุณค่ากับทรัพยากรที่ใช้หรือไม่

บทที่ 3 ทำไมต้องทบทวนวรรณกรรม

การศึกษาแนวคิด ทฤษฏีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากวารสาร ตำราและเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ยิ่งค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถนำหลักฐานมาสนับสนุนหัวข้อและใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้อย่างน่าเชื่อถือ

บทที่ 4 เก็บข้อมูลอย่างไรให้น่าเชื่อถือ

แนวทางการคัดเลือกประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

บทที่ 5 ค้นพบอะไรบ้าง

การเขียนรายงานผลการวิจัยรูปแบบต่างๆ เช่น การรายงานผลการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก นำผลจากการที่ได้เก็บข้อมูล นำมาวิเคราะห์และเขียนรายงานผลที่ได้ค้นพบ รายงานข้อเท็จจริงโดยไม่ใส่ความคิดเห็นของผู้วิจัย เทคนิคการเขียนเรียบเรียงเนื้อหาให้มีความน่าสนใจ ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงประเด็น

บทที่ 6 นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร

บทสุดท้ายสำหรับผู้วิจัยบทนี้มีความหมายที่สุดเพราะผู้วิจัยกำลังสื่อสารว่าควรนำผลการวิจัยที่ค้นพบไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอะไรและในแบบใด เทคนิคการนำเสนอที่ดี เช่น ต้องเขียนในเชิงพรรณา ไม่นำข้อคำถามมาเรียงต่อๆ กัน แต่ต้องมีสันธานในการเชื่อมประโยคของข้อคำถามแต่ละข้อ เป็นต้น

บทที่ 7 แบ่งปันประสบการณ์นักศึกษาปริญญาเอก

นกต้องมีขน คนต้องมีเพื่อน การทำวิทยานิพนธ์ไม่สามารถทำสำเร็จได้ตามลำพัง ถ้าไม่มีเพื่อนคอยช่วยเหลือบทส่งท้ายของหนังสือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง

จากคำแนะนำที่สรุปมาบางส่วนหวังว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเพื่อนข้างกายสำหรับผู้ทำวิทยานิพนธ์ หรือนักวิจัยมือใหม่ที่กำลังออกเดินทางเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ช่วยให้ผู้วิจัยมีหลักการในการเขียนได้ถูกต้อง ผลงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงได้รับมุมมองใหม่ ๆ ในการเรียนรู้การทำวิจัย รวมถึงได้รับกำลังใจดีๆ เคล็ดลับต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณทำวิจัยจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

หากสนใจหนังสือเล่มนี้ ตรวจสอบสถานะ

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น