เริ่มให้ได้ แล้วมันจะง่ายกว่าที่คิด

การที่จะเริ่มลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองที่ความยุ่งยากและกลายเป็นความขี้เกียจจนไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ จริง ๆ แล้วไม่ว่าใครต่างก็มีความขี้เกียจอยู่ในตัวกันทั้งนั้น มีบางครั้งที่เราอยากนอนเฉยๆ แบบไม่ต้องคิดอะไร อยากผ่อนคลายสมองแบบสบายๆ แต่หากพฤติกรรมเหล่านั้นกลายเป็นนิสัย เห็นงานทีไรก็ขอผัดวันประกันพรุ่งตลอด แบบนี้อาจกลายเป็นพฤติกรรมไม่ดีที่ติดตัวเราไปจนส่งผลต่อชีวิตและการทำงานได้
เริ่มให้ได้ แล้วมันจะง่ายกว่าที่คิด เขียนโดย โทโยคาซึ สึรุตะ เป็นหนังสือที่รวมเคล็ดลับที่จะทำให้เรามีมุมมองในการลงมือทำอะไรได้ง่ายขึ้น ทำให้เลิกขี้เกียจ และเริ่มลงมือทำ ในหนังสือมีการแบ่งประเภทของการขี้เกียจและความยุ่งยากออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. การยุ่งยากที่จะลงมือทำ
2. การยุ่งยากเรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน
3. การยุ่งยากไปซะทุกอย่าง หรือทุกสิ่งทุกอย่างล้วนยุ่งยาก
โดยเนื้อหาในหนังสือก็จะวิเคราะห์และบอกวิธีคิดที่จะช่วยแก้ความขี้เกียจและยุ่งยากในแต่ละประเภท นอกจากนี้จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่เราขี้เกียจ และบอกวิธีการแก้ไขสาเหตุเหล่านั้นเพื่อให้เราได้เริ่มลงมือทำ โดยผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรม แบ่งออกเป็นบท ดังนี้
บทนำ แค่ขจัด “ความรู้สึกว่าเรื่องต่าง ๆ ช่างยุ่งยาก” ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ 6 ออกไป ชีวิตก็สนุกได้ทุกวัน
บทที่ 1. ทำไมจึงรู้สึกว่าการลงมือทำช่างยุ่งยาก
บทที่ 2. หลักการ 4 ข้อที่ช่วยขจัด “ความรู้สึกว่าการลงมือทำเป็นเรื่องยุ่งยาก”
บทที่ 3. เทคนิคลบ “ความรู้สึกว่าการลงมือทำเป็นเรื่องยุ่งยาก”
บทที่ 4. วิธีกำจัด “ความรู้สึกว่าการลงมือทำเป็นเรื่องยุ่งยาก”
บทที่ 5. กลไกและวิธีจัดการกับ “ความรู้สึกว่าการลงมือทำเป็นเรื่องยุ่งยาก”
บทที่ 6. 6 วิธีที่ทำให้มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
บทที่ 7. วิธีรับมือกับคนที่ไม่ถูกชะตาให้ได้ผลดี
บทที่ 8. 5 ขั้นตอนเพื่อเลิกใส่ใจคนที่คุณไม่ชอบ
บทที่ 9. กำจัดความรู้สึกว่า “ทุกอย่างดูยุ่งยากไปหมดและนำความหวังกลับคืนมา”
บทส่งท้าย ทุกคนล้วนก้าวเดินบนเส้นทางชีวิตที่ดีที่สุดอยู่แล้ว
ไม่ว่าการลงมือทำแล้วจะสำเร็จช้าหรือเร็ว แต่การเริ่มต้นลงมือทำเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง ซึ่งมุมมองและเคล็ดลับต่าง ๆ ในหนังสือก็จะทำเราเดินทางไปถึงฝั่งฝันของจุดมุ่งหมายได้แน่นอน

หากสนใจหนังสือเล่มนี้ ตรวจสอบสถานะ และยืมหนังสือเล่มนี้ได้ที่ห้องสมุด มสธ. ค่ะ

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น