เสน่ห์ท้องถิ่น EP.5 เพลงระบำบ้านไกล

เพลงระบำบ้านไกล เป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานของชาวมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลงานบุญต่างๆ และเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญที่อาศัยอยู่บนเกาะเกร็ด เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดปรมัยยิกาวาส ได้มีคนไทยที่เข้ามาอยู่ที่เกาะเกร็ดนี้เพื่อการบูรณะและการฉลองสมโภชวัดครั้งละนานๆ ชาวบ้านเกาะเกร็ด จึงได้รับเอาวัฒนธรรมการเล่นเพลงพวงมาลัยของคนไทยเหล่านี้และนำมาประดิษฐ์คำใหม่ และเรียกการละเล่นนี้ว่า เพลงระบำบ้านไกล

การร้องเพลงระบำบ้านไกล เป็นการร้องเพลงในลักษณะที่เป็นการเล่าเรื่อง นักร้องมีทั้งฝ่ายชายและหญิง เป็นการร้องโต้ตอบที่มีลูกคู่รับ เป็นการด้นกลอนสด ที่ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบทางภาษา ไม่มีคำหยาบหรือคำสองแง่สามง่าม ระหว่างการเล่นไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ ลูกคู่จะใช้การตบมือให้จังหวะแทนเสียงดนตรี และขณะร้องผู้ร้องจะรำไปพร้อมกับขับร้องด้วย แต่ท่าที่รำไม่มีแบบแผนว่าจะต้องร่ายรำแบบใด เพียงแต่รำให้พอดูงามเท่านั้น

คำร้องขึ้นต้นด้วยคำว่า

“เอ่อระเหยระบำ
แขนอ่อนฟ้อนรำ
โอ้ระบำของชาวบ้านไกล”

จากนั้นร้องเป็นคำกลอน สี่หรือกลอนหก ร้องไปกี่ท่อนก็ได้ ไม่จำกัด และท่อนสุดท้ายขึ้นต้น “โอ้เจ้าเอ๋ย…”เมื่อร้องจบท่อนสุดท้าย ลูกคู่จะร้องรับด้วยคำร้อง

“เอ่อระเหยระบำ
แขนอ่อนฟ้อนรำ
เขาก็รำสวยเอย
สวยเอย สวยเอย
สวยเอยเขาก็รำสวยเอย”

คนมอญเกาะเกร็ดได้เอาการเล่นเพลงระบำบ้านไกล ไปเผยแพร่ยังท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีคนมอญอาศัยอยู่จนเป็นที่แพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเพลงระบำบ้านไกล มีคนรู้จักน้อย จึงไม่ได้ถูกนำมาเล่นในเทศกาลต่างๆ คงเหลือเพียงการแสดงเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป

สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น