STOU Storian Podcast EP.6 จุดเริ่มต้นภาพยนตร์…สู่พระราชนิยมพระปกเกล้าฯ

  1. ความหมายของภาพยนตร์
  2. ประวัติภาพยนตร์ครั้งแรกของโลก
  3. กำเนิดภาพยนตร์ครั้งแรกในสยาม
  4. พระราชนิยมการถ่ายภาพยนตร์ของรัชกาลที่ 7
  5. รัชกาลที่ 7 เสด็จเยือนฮอลลีวูด
  6. กำเนิด “ศาลาเฉลิมกรุง” โรงหนังติดแอร์แห่งแรกของเอเชีย
  7. “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” มรดกภาพยนตร์ของชาติ
  8. แหวนวิเศษ มรดกหนังเงียบเรื่องเดียวที่สมบูรณ์ของชาติ
  9. สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น สู่มรดกภาพยนตร์ทรงถ่ายอันล้ำค่าของชาติ ริเริ่มก่อตั้ง “ศาลาเฉลิมกรุง” โรงภาพยนตร์ระบบแอร์แห่งแรกของเอเชีย และในสมัยรัชกาลที่ 7 มิกกี้เม้าส์ได้มาเยือนสยามเป็นครั้งแรก

STOU Storian Podcast EP.6 เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติภาพยนตร์ครั้งแรกของโลก การกำเนิดภาพยนตร์ครั้งแรกของสยาม และยุคทองวงการภาพยนตร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 

ความหมายของภาพยนตร์

“ภาพยนตร์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำอธิบายไว้ว่า น. ภาพฉายด้วยเครื่องทำให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้, หนังฉาย. ด้านพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ให้คำนิยามว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือ ภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์ 

“Flim, Movie, Cinema”

“Flim, Movie” มีความหมายที่เหมือนกันคือภาพยนตร์ โดย “Film” มาจากคำว่า แผ่นหนัง/ฟิล์มถ่ายรูป/ฟิล์มที่เก็บภาพเคลื่อนไหว เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในชาวบริติช คำว่า “Movie” มาจากคำว่า Motion picture (ภาพเคลื่อนไหว) เป็นคำที่ชาวอเมริกันนิยมใช้ และคำว่า “Cinema” ใช้ในเชิงเป็นสถานที่ที่ฉายหนัง/ภาพยนตร์ คือ โรงภาพยนตร์

ประวัติภาพยนตร์ครั้งแรกของโลก

กล้องถ่ายภาพยนตร์ “Kinetograph” และเครื่องฉายภาพยนตร์แบบถ้ำมอง “Kinotoscope”

ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของโลกเริ่มต้นขึ้นจากแนวคิดการบันทึกภาพเคลื่อนไหว ช่วงปี ค.ศ.1815-1830 ในทวีปยุโรปมีนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์หลายคนพยายามที่จะประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้เทคนิคภาพติดตาทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหว และเป็นจุดกำเนิดของคำว่า “motion picture” 

ทางด้านสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ.1891-1893 (พ.ศ.2434-2436) Thomas Edison ร่วมมือกับ William Dickson ได้คิดค้นและจดสิทธิบัตรกล้องถ่ายภาพยนตร์ “Kinetograph” และเครื่องฉายภาพยนตร์แบบถ้ำมอง “Kinotoscope” ที่ฉายควบคู่กับเครื่องเล่นแผ่นเสียง มีลักษณะการดูผ่านช่องเล็กๆ ดูได้ทีละคน ณ โรงภาพยนตร์แห่งแรกของโลก “แบล็คมารีอา” ภาพเคลื่อนไหวแรก ๆ ได้แก่ ภาพคนจาม ภาพช่างตีเหล็ก และภาพแมวใส่นวมชกกัน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้เกิด “ภาพยนตร์แบบมีเสียง” ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2436 ปีที่รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชสมภพ

ทางด้านยุโรป สองพี่น้อง Louis and Auguste Lumière ได้ดัดแปลงกล้องและเครื่องฉายของเอดิสันและพัฒนากล้องฉายภาพเคลื่อนไหวที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด เรียกว่า “Cinematographe” เป็นได้ทั้งกล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่องพิมพ์ฟิล์มและเครื่องฉายในตัวเดียวกัน โดยฉายภาพยนตร์ที่มีชื่อแปลเป็นภาษาไทยว่า “คนงานเดินออกจากโรงงาน” ฉายเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) ความยาว 40 วินาที และสามารถฉายขึ้นจอขนาดใหญ่ดูได้พร้อมกันหลายคน ณ ชั้นใต้ดิน Grand cafe ในปารีส จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของกิจการภาพยนตร์ของโลกที่มีการเก็บค่าชม และถือเป็น “วันกำเนิดภาพยนตร์โลก” หลังจากนั้นภาพยนตร์และเครื่องฉาย Cinematographe ได้แพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้คำว่า “Cinema” ถูกใช้เรียกเกี่ยวกับภาพยนตร์มาจนถึงปัจจุบัน

กำเนิดภาพยนตร์ครั้งแรกในสยาม

หนังสือพิมพ์รายวัน “Bangkok Times” โฆษณาการฉายภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2440

ความนิยมของภาพยนตร์ที่แพร่หลายไปทั่วโลกส่งอิทธิพลมายังสยามครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยปรากฏหลักฐานจากหนังสือพิมพ์รายวัน “Bangkok Times” ที่โฆษณาการฉายภาพยนตร์ ว่า “การละเล่นซึ่งเรียกกันว่า ซีเนมาโตแครฟ คือรูปที่สามารถกระดิกแลทำท่าต่าง ๆ ได้…จะเล่น 3 คืนติด ๆ 10, 11, 12 เดือนมิถุนายน ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ” ซึ่งชาวสยามเรียกมหรสพนี้ว่า “หนังฝรั่ง” เป็นมหรสพฉายแสงเล่นเงาบนจอผ้าขาวเหมือนกับหนังใหญ่และหนังตะลุง โดยภาพยนตร์ได้รับความนิยมทั้งในพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และราษฎร

พระราชนิยมการถ่ายภาพยนตร์ของรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น ทรงสนพระทัยการถ่ายภาพและภาพยนตร์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงฝึกฝนและเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากการทอดพระเนตรภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ ทรงศึกษาจากหนังสือและวารสาร โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเชษฐาผู้ทรงรอบรู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพยนตร์เป็นผู้ถวายคำแนะนำ รัชกาลที่ 7 ทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ของสยามในหลายด้าน ได้แก่ ทรงจัดตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งประเทศสยามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 ณ พระตำหนักจิตรลดาร ทรงให้คำปรึกษาแก่ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ทรงตราพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช 2473 กฏหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์ฉบับแรก เพื่อควบคุมการสร้างและการจัดฉายภาพยนตร์ โดยทุกเรื่องต้องได้รับการตรวจพิจารณาและอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ก่อนให้นำออกฉาย

รัชกาลที่ 7 เสด็จเยือนฮอลลีวูด

จากซ้าย: ดักลาส แฟร์แบงค์, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี, ม.จ.อมรทัต กฤดากร, แมรี่ พิคฟอร์ด และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จฯ ประพาสฮอลลีวูด

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสวงหาประสบการณ์ด้านภาพยนตร์ด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จประพาสยังสถานที่ต่าง ๆ หลังทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหาร ปี พ.ศ. 2467 พระองค์เสด็จเยือนฮอลลีวูด ทรงได้พบกับดาราฮอลลีวูดหลายท่าน อาทิ “ชาร์ลี แชปลิน” ดาราตลกคนดังแห่งยุคภาพยนตร์เงียบ ดักลาส แฟร์แบงค์ และแมรี่ พิคฟอร์ด ผู้เป็นภรรยา ดาราและผู้ทรงอิทธิพลด้านภาพยนตร์ โดยทั้ง 3 คนนั้น เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ยูไนเต็ด อาร์ติส โรงถ่ายภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น

ดักลาส แฟร์แบงค์ เป็นดาราคนโปรดของรัชกาลที่ 7  เมื่อปี พ.ศ. 2473 พระองค์ทรงเชิญชวนแฟร์แบงค์ให้มาถ่ายทำภาพยนตร์ในสยามในฐานะพระราชคันตุกะ โดยได้รับการต้อนรับอย่างดี เมื่อกลับไปแฟร์แบงค์จึงทำภาพยนตร์เสียง Around the World in 80 Minutes with Douglas Fairbanks ที่เดินทางไปถ่ายทำจากทั่วโลก โดยมีไฮไลท์ คือ มิกกี้เม้าส์ ที่กำลังโด่งดังในโลกแสดงท่าทางลีลาร่ายรำด้วยเพลงมโหรีไทย ถือได้ว่าเป็นการมาเยือนสยามครั้งแรกของมิ้กกี้เม้าส์

หลังจากนั้นแฟร์แบงค์ได้ส่งฟิล์มภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมาถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาฟิล์มได้ถูกอนุรักษ์และจัดเก็บที่หอภาพยนตร์แห่งชาติให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ

และการเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2474 ได้เสด็จทรงเยี่ยม Thomas Edison นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพยนตร์ และทอดพระเนตรโรงงานของโทมัส ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการบันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นภาพยนตร์ ชื่อ “Charles Edison Home Movies” ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอเมริกันลงข่าวใน นสพ.The New York Times 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเยี่ยมโรงภาพยนตร์ของบริษัท Paramount Pictures โดยมีนายอดอล์ฟ ซูกอ ประธานบริษัทเฝ้ารับเสด็จ

นอกจากนี้ ทรงทัศนศึกษาโรงภาพยนตร์ของบริษัท Paramount Pictures ซึ่งได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์เสียงในฟิล์มที่ถือเป็นของใหม่ในยุคนั่นอีกด้วย

กำเนิด “ศาลาเฉลิมกรุง” โรงหนังติดแอร์แห่งแรกของเอเชีย

ความนิยมภาพยนตร์ในสยามยุคนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการสร้างโรงภาพยนตร์มากมายหลายแห่ง แต่เป็นโรงขนาดเล็ก สร้างด้วยไม้ หลังคามุงสังกะสี ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดสร้างโรงมหรสพแห่งชาติที่มีความทันสมัยเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี โดยได้พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง” มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2473 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2476 ถือเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของเอเชียที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ รองรับผู้ชมได้มากกว่า 1,000 คน ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้าฉาย คือ มหาภัยใต้ทะเล (Below the Sea 1933

ความสำเร็จของศาลาเฉลิมกรุง ทำให้ย่านธุรกิจโดยรอบเติบโตและกลายเป็นย่านภาพยนตร์ที่เปรียบเสมือนฮอลลีวูดเมืองไทย และทรงเห็นว่าการดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์จำเป็นต้องมีผู้ดูแลบริหารงาน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งบริษัท สหศินีมา จำกัด เพื่อบริหารศาลาเฉลิมกรุง และโรงภาพยนตร์ในเครือ รวมทั้งนำเข้า จัดจำหน่าย และจัดฉายภาพยนตร์ทั่วประเทศ

ภาพยนตร์ทรงถ่าย” มรดกภาพยนตร์ของชาติ

พระราชนิยมด้านภาพยนตร์ในรัชกาลที่ 7 ปรากฎเด่นชัดตั้งแต่เสด็จครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ เห็นได้จากทรงถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ติดพระหัตถ์เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ทรงใช้กล้องถ่ายขนาดฟิล์ม 16 มม. ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ในระยะแรกเรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” ตามชื่อพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นที่ประทับ มีภาพยนตร์ที่ทรงถ่ายระหว่างปี พ.ศ.2469 – 2476 กว่า 500 ม้วน กล่าวได้ว่า ทรงถ่ายภาพยนตร์เฉลี่ย 2-3 ม้วน/สัปดาห์ โดยมีทั้งภาพยนตร์สารคดีบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ภาพยนตร์ข่าว และภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง ซึ่งถูกยกให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติหลายเรื่อง เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468) พระราชพิธีเฉลิมกรุงเทพมหานครอันประดิษฐานมาครบ 150 ปี (2475) และนิทานของลุง เรื่อง แหวนวิเศษ

แหวนวิเศษ มรดกหนังเงียบเรื่องเดียวที่สมบูรณ์ของชาติ

กลุ่มภาพยนตร์ทรงถ่ายทั้งหมด แหวนวิเศษเป็นภาพยนตร์เงียบที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย ที่สามารถดูได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกของชาติ เมื่อปี พ.ศ.2556

แหวนวิเศษ เป็นภาพยนตร์เงียบ ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำ 16 มม. ที่เกาะพะงัน ระหว่างเสด็จประพาสทางทะเลอ่าวไทย ปี พ.ศ.2472  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอำนวยการสร้าง พระราชนิพนธ์บทภาพยนตร์ และทรงกำกับ โดยใช้พระนามแฝงว่า “นายน้อย ศรศักดิ์” ที่มาจากพระนาม “ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย” และสร้อยพระนาม “ศักดิเดชน์” นักแสดงทั้งหมดเป็นเชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพาร แหวนวิเศษเป็นเรื่องราวของพ่อเลี้ยงใจร้ายที่นำลูกเลี้ยงทั้ง 5 คน ปล่อยที่เกาะร้าง แต่เป็นโชคดีของเด็กๆ ที่ได้พบกับพรายน้ำและได้มอบแหวนวิเศษที่มีอำนาจเสกสิ่งต่าง ๆ ได้ตามปรารถนา จนเกิดเหตการณ์ชุลมุนยื้อแย่งครอบครองแหวนนั้น จุดเด่นภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การเล่าเรื่องโดยมีคำอธิบายเหตุการณ์คั่นแต่ละฉาก ข้อคิดของหนังสอนให้รู้จักผลของความดีความชั่ว ถือเป็นภาพยนตร์สำหรับเด็กเรื่องแรกของชาติที่สะท้อนให้เห็นพระอัจริยภาพในการนำนิทานมาสร้างสรรค์เป็นสื่อที่ทันสมัย

สำหรับผู้ที่สนใจภาพยนตร์แหวนวิเศษ ห้องสมุด มสธ. มีให้บริการทั้งในรูปแบบวิดีทัศน์และหนังสือ นิทานของลุงเรื่อง “แหวนวิเศษ” ภาพยนตร์ฝีพระพัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และภาพยนตร์พุทธประวัติ “บุรพประทีป” รวมถึงภาพยนตร์ทรงถ่าย และสารสนเทศพระปกเกล้าศึกษาอื่น ๆ

สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ เป็นสาขาวิชาลำดับที่ 10 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2527 ปีการศึกษาแรกมีจำนวนนักศึกษา 4,102 คน เป็นจุดเริ่มต้นของการให้การเรียนการสอนวิชานิเทศศาสตร์แบบทางไกลในระดับปริญญาตรีสำหรับประชาชนทั่วไป มีหลักสูตรตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในระดับปริญญาตรีเปิดสอนหลายแขนงวิชา

และเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 นักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 การประกวดภาพยนตร์สั้นภายใต้หัวข้อ “ให้ไม่มีที่สิ้นสุด” โดยมีชื่อเรื่องภาพยนตร์ว่า Perspective of giving 

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

เอกสารอ้างอิง

โดม สุขวงศ์. (2539). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์. ต้นอ้อ แกรมมี่.
มูลนิธิหนังไทย, หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร. (2530). นิทานของลุงเรื่อง “แหวนวิเศษ” ภาพยนตร์ฝีพระพัตถ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และภาพยนตร์พุทธประวัติ “บุรพประทีป”. มูลนิธิ
สถาบันพระปกเกล้า. (2558). ปกเกล้าธรรมราชา. สถาบัน.
ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล, ศิริน โรจนสโรช. (ม.ป.ป.). ภาพถ่าย ภาพยนตร์และพระราชนิยมในการถ่ายภาพยนตร์. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th
ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล. (2563). พระราชบันทึกความทรงจำในองค์ประชาธิปกเกี่ยวกับ เมื่อเสด็จฯ ยังสหรัฐอเมริกา. รายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี = The King Prajadhipok and Queen Rambhai Barni memorial foundation ประจำปี 2563. (น.5-44).มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี.

เรียบเรียงโดย

ธนพล นนทสุตวงศ์, รัชกร คงเจริญ และดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

รับชมผ่านช่องทางอื่นได้ที่

SoundCloud: https://on.soundcloud.com/EeFqN
YouTube: https://youtu.be/ok7Tml7p1Qg

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น