STOU Read it now! EP.10 วิกฤตในองค์กรแก้ได้ ด้วย .. นวัตกรรมการจัดการและการสื่อสารภาวะวิกฤต

สวัสดีค่ะ STOU Read it Now EP. นี้เป็น EP. ที่ 10 นะคะ หนังสือที่จะมาแนะนำวันนี้มีชื่อว่า นวัตกรรมการจัดการและการสื่อสารภาวะวิกฤต เขียนโดย รศ.ดร.อภิชัจ พุกสวัสดิ์

สำหรับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้นะคะ ผู้เขียนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 ความรู้พื้นฐานการสื่อสาร และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ นิยามความหมาย องค์ประกอบ วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร แบบจำลองการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ได้รับการยอมรับ
  • ส่วนที่ 2 นวัตกรรมการจัดการและการสื่อสารภาวะวิกฤต เนื้อหาในส่วนนี้จะเกี่ยวกับนวัตกรรมการจัดการและการสื่อสารตามวงจรชีวิตของภาวะวิกฤต ได้แก่ ก่อนเกิดภาวะวิกฤต ระหว่างเกิดภาวะวิกฤต และหลังเกิดภาวะวิกฤต รวมถึงการถอดบทเรียนเกี่ยวกับภาวะวิกฤตขององค์กรต่างๆ เพื่อสร้างการป้องกัน และ
  • ส่วนที่ 3 กรณีศึกษานวัตกรรมการจัดการและการสื่อสารภาวะวิกฤต มีการยกตัวอย่างการสื่อสารในภาวะวิกฤตขององค์กรว่าเขามีวิธีการจัดการกันอย่างไร

โดยผู้เขียนได้ให้นิยามของการสื่อสารว่า คือกระบวนการถ่ายทอดข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็น
สัญลักษณ์ใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความหมายและความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารโดยผ่านสื่อหรือช่องทางการสื่อสาร

ทีนี้เรามาดูการสื่อสารในส่วนขององค์กรกันนะคะ การสื่อสารขององค์กรทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตจำเป็นจะต้องมีการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การสื่อสารเพื่อการประชาสัมพันธ์บนเครือข่ายสังคมออนไลน์  ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าเว็บไซต์ขององค์กรโดยตรง, ผ่าน Blog, ชุมชนออนไลน์, youtube, tiktok รวมถึง Application บน Smart phone ควรมีการกำหนดภารกิจและหาบุคคลที่เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเสริมงานให้กับฝ่ายประชาสัมพันธ์ นอกเหนือจากเป็นการประชาสัมพันธ์แล้วยังเป็นช่องทางสำหรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายด้วยค่ะ

เมื่อเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมาเราจะพบว่าผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะเกิดความตื่นตระหนก
ความกดดัน ความเครียด ใช่มั้ยคะ เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ เช่น การเกิดเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือการเกิดโรคระบาด การก่อการร้าย การรั่วไหลของสารเคมี เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความสับสนวุ่นวายเป็นอย่างมาก การสื่อสารในสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีภาวะวิกฤตจากข่าวลือหรือการให้ร้ายจากผู้ไม่หวังดีและอื่นๆ อีก

ดังนั้น องค์กรต่างๆ จะต้องมีการจัดการเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยการตั้งทีมงานขึ้นมานะคะ เพื่อประเมินสถานการณ์ตามกรอบแนวคิดการจัดการภาวะวิกฤตตามสถานการณ์ ซึ่งสามารถพิจารณาระดับความรุนแรงของสถานการณ์เพื่อกำหนดระดับภาวะวิกฤต ได้ 3 ระดับ ดังต่อไปนี้

  • ระดับที่ 1 เป็นภาวะวิกฤติในองค์กร ไม่มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อหลัก ไม่มีข่าวลือในสังคมออนไลน์ ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย องค์กรยังสามารถทำงานได้ตามปกติ
  • ระดับที่ 2 มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อหลัก และสื่อออนไลน์ มีผู้บาดเจ็บ มีความเสียหายต่อข้อมูล องค์กรไม่สามารถปฏิบัติงานได้ชั่วคราว และ
  • ะดับที่ 3 มีการสร้างกระแสขยายจากสื่อออนไลน์ไปยังสื่อหลัก เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์องค์กร และผู้บริหาร หรือเกิดผลกระทบรุนแรงต่อชีวิต ทรัพย์สิน เกิดความตื่นตระหนก
    ทำให้องค์กรไม่สามารถที่จะทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างละเอียดนะคะ ยอมรับ และหาหนทางสกัดกั้นเพื่อป้องกันการลุกลามของภาวะวิกฤตอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะควบคุมผลกระทบและความเสียหาย เช่น ควรมีการให้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลขององค์กรโดยตรงภายใน 24 ชั่วโมงแรก โดยข้อมูลจะต้องไม่คลุมเครือหรือขัดแย้งกันเพราะจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือ การให้ข้อมูลควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเมื่อภาวะวิกฤตสงบลง คราวนี้ก็เป็นภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูองค์กร ที่จะต้องทำให้เกิดข่าวในทางบวก โดยอาจใช้กิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร เช่น การใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งมีการเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายครอบคลุมแทบทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของมนุษย์

หากสนใจหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3M4flNP

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น