บรรณสารฯ ติดเล่า PODCAST SS2 EP.10 “กินดีมีสุขเพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน”

ก้าวเข้าสู่เดือนแห่งความรัก ในปีนี้ หลายคนอาจจะตั้งเป้าหมายที่จะดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น และในปี 2567 นี้ เทรนด์การกินเพื่อสุขภาพก็ยังคงมาแรงต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือคนไทยให้ความใส่ใจเรื่องการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ซึ่ง เทรนด์สุขภาพปี 2567 นี้ เน้น “กินดี มีสุข “ ได้แก่
1. กินดี อร่อย เน้นคุณภาพ
2.ใส่ใจฉลากโภชนาการ
3.ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
4.ทำอาหาร เครื่องดื่มกินเอง
5.อาหารสายกรีน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
6.ใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพกายใจ
7.มีสุข แข็งแรงทั้งกายและใจ

ในชีวิตประจำวันวันเรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า   กระทรวงพาณิชย์ เรื่องค่าใช้จ่ายของครัวเรือนคนไทย เดือนธันวาคม 2566 พบว่า เฉลี่ยมีค่าใช้จ่าย 17,984 บาทต่อครัวเรือน แยกเป็น ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 58.21% อีก 41.79 % เป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับคนที่อาศัยในเมืองใหญ่นั้น ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับค่าอาหาร เกือบครึ่งของรายได้ทั้งหมด และแน่นอนว่า รายจ่ายที่สูญเสียไปนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับอาหารที่สะอาด ปลอดภัยกลับมาเสมอไป
ดังนั้น ผุู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันมาปลูกพืชหรือผักสวนครัวไว้บริโภคภายในครัวเรือนเพื่อทางเลือกสู่อาหารปลอดภัย และมีส่วนส่งเสริมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้ เพราะนอกจากจะทำให้มั่นใจว่าผักเหล่านี้สะอาด สด ใหม่ ปลอดสารพิษแล้ว ยังสามารถช่วยลดพลังงานและประหยัดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือการปลูกผักยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย
หลายเหตุผลควรปลูกผักไว้กินเอง ดังนี้
1. ได้ผักสดและดีต่อสุขภาพมากกว่า
        เพราะตามปกติ ผักจะสูญเสียวิตามินและเกลือแร่ทันทีที่ถูกเด็ดออกจากต้น และเสียเพิ่มเติมในขั้นตอนการปรุงอาหาร ดังนั้นหากเราซื้อผักจากร้านข้างนอก ที่ใช้เวลาขนส่งและถูกแช่ไว้ในตู้เย็นเป็นเวลานานกว่าจะถึงมือเรา ผักเหล่านี้แทบไม่เหลือคุณค่าอาหารใด ๆ เลย นี่คือเหตุผลว่าทำไมการปลูกผักกินเองจึงดีกว่า เพราะนอกจากจะกรอบอร่อยเพราะความสดใหม่กว่าแล้ว ยังลดโอกาสในการสูญเสียคุณค่าทางอาหารให้น้อยลงอีกด้วย
2. มีส่วนช่วยในการดูแลโลก
        ผักต่าง ๆ ที่เราซื้อมาจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เกตนั้น ไม่ได้ปลูกในเมืองหรือในประเทศของเราเสมอไป ผักบางชนิดก็ถูกขนส่งมาจากพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังต้องถูกแช่แข็งมาเพื่อรักษาความสด และยังต้องทำบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขายได้ราคาแพง ทั้งหมดนี้ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมหาศาล ดังนั้นการปลูกผักที่บ้านไว้รับประทานเอง จึงเป็นหนทางที่ดีในการรักษ์โลกได้อีกทาง
3. ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ที่บ้าน
        เพราะการใช้ชีวิตแบบยุคสำเร็จรูปในปัจจุบัน แทบไม่เปิดโอกาสเด็ก ๆ เรียนรู้ว่าผักต่าง ๆ มาจากไหนหรือให้ประโยชน์อะไร ซึ่งเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ง่าย ๆ ด้วยการให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมปลูกผักที่บ้าน ถ้าเด็ก ๆ ปลูกถั่วงอก เขาก็จะอยากลองกินถั่วงอก เพราะรู้สึกผูกพันกับพืชผักที่เขาปลูก ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องอาหารและการกินเพื่อสุขภาพได้ง่ายนั่นเอง
 4. ไม่ต้องกังวลกับยาฆ่าแมลง
        ทุกคนรู้ดีว่าผักที่ซื้อจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เกต ไม่ได้ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงเสมอไป และวิธีที่ดีกว่าการเสี่ยงต่อสารเคมีสะสม คือการปลูกผักไว้กินเอง เพราะเราสามารถดูแลควบคุมคุณภาพได้อย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน และไม่ต้องกังวลใจเรื่องสารเคมีใด ๆ อีกด้วย 
 5. ประหยัดเงินในกระเป๋า
        แม้ว่าในเบื้องต้นเราจะต้องลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อปลูกผักในบ้าน แต่รับรองว่าผลหลังจากนั้นจะคุ้มค่าแน่นอน เพราะนอกจากเราจะมีผักที่สดสะอาด เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าอาหารไว้รับประทานเอง (รวมถึงแบ่งปันเพื่อนบ้านแล้ว) เรายังจะได้เมล็ดพันธุ์ของพืชมาปลูกได้อีกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้เยอะ
 6. ทำให้เรามีความสุข
        การปลูกผักไว้กินเองทำให้เรารู้สึกมีความสุขขึ้น เพราะต้นไม้สร้างพลังงานดี ๆ ให้แก่พื้นที่รอบข้าง ทั้งยังมอบความอุดมสมบูรณ์และเชื่อมโยงเรากับความมีชีวิตชีวา ดังนั้นการปลูกผักไว้กินเองนอกจากจะให้ประโยชน์ตามที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ยังทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วยนั่นเอง

เทคนิคปลูกพืชผักสวนครัวแบบกรีน ๆ ที่ปลูกง่า โตเร็ว
สำหรับมือใหม่หัดปลูกอาจจะเริ่มต้นจากการเลือกพืชผักที่มีอายุสั้น เลี้ยงง่าย สามารถเติบโตได้ดีในทุกสภาพอากาศ หรือผักที่สามารถปลูกหมุนเวียนและเก็บผลิตได้ตลอดปี โดยวิธีนี้จะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการซื้ออาหาร รวมทั้งหมดความกังวลเรื่องสารพิษปนเปื้อนไปได้เลย เพราะผักที่ปลูกเองกับมือมีความปลอดภัย ดีต่อร่างกายแน่นอน   สำหรับผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว กินดี จะเป็นพืชชนิดผักสวนครัวที่ทุก ๆ บ้านนิยมนำมาปรุงอาหาร และทำเมนูอาหารได้หลากหลาย ได้แก่

  • พริก เป็นพืชที่เลี้ยงง่าย ชอบดินร่วน เพียงแค่หยอดเมล็ดลงในกระบะเพาะพันธุ์ แล้วรอประมาณ 7 วัน ก็จะมีต้นกล้างอกขึ้นมา จากนั้นให้เราย้ายลงไปปลูกในกระถางเล็ก ๆ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ดินแฉะหรือเกิดน้ำขัง
  • ผักชี ก่อนอื่นต้องทำให้เมล็ดแตกออกเป็น 2 ส่วน แช่น้ำไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง ตากลมให้แห้ง และนำไปคลุกทรายหรือขี้เถ้า แล้วจึงหย่อนลงในกระถาง กลบดิน คลุมด้วยฟาง ปิดท้ายด้วยการรดน้ำให้ชุ่ม รอประมาณ 40-45 วัน ก็พร้อมเก็บเกี่ยว
  • กะเพรา โหระพา ควรโรยเมล็ดลงกระถางที่มีดินละเอียด แล้วรดน้ำตามทันที จากนั้นภายใน 7-10 วัน ต้นอ่อนจะงอกขึ้นมา และรอให้ต้นอ่อนสูงประมาณ 4 นิ้ว จึงค่อยเริ่มเก็บยอด
  • ผักสลัด ควรใส่ดินลงในกระถางหรือถาดหลุม รดน้ำให้ชุ่ม โดยวางเมล็ดพันธุ์ในหลุม 3-4 เมล็ด แล้วรอประมาณ 5-7 วัน จากนั้นคัดต้นอ่อนที่สมบูรณ์ออกมาให้เหลือเพียง 1 ต้นต่อหลุม และกดดินให้แน่น เมื่อครบ 45-50 วัน ก็เก็บเกี่ยวได้เลย

ส่วนภาชนะที่จะนำมาปลูกนั้น สามารถลงกระถางได้โดยตรง หรือถ้าอยากหาภาชนะปลูกที่หลากหลาย ไว้ตกแต่งพื้นที่ภายในบ้าน อาจลองมองหาสิ่งของรอบ ๆ ตัวที่มีอยู่ มา D.I.Y รีไซเคิลเป็นกระถางในรูปแบบใหม่ เช่น   ขวดพลาสติกเจาะรู ตะกร้า ภาชนะที่ใส่อาหารจากการสั่งเดลิเวอรี่ แก้วน้ำกระดาษ เปลือกไข่เจาะรู

การปลูกผักกินเองให้ประโยชน์ ช่วยโลกมากกว่าที่คิด   หลายคนคิดว่าการปลูกผักอาจไม่ได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมาก แต่ถ้าเราร่วมมือกันการปลูกผักกินเองคนละเล็กละน้อย ก็จะผักทานสด อร่อย ๆ สะอาด ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน และดีต่อสุขภาพ ทานตลอดปี มีพื้นที่ปลูกผักสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดีเรียกได้ว่าการแบ่งพื้นที่ภายในบ้านสำหรับการปลูกผักสวนครัวล้วนแต่มีข้อดี และใคร ๆ ก็สามารถเริ่มทำได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ลองจัดแบ่งพื้นที่แล้วนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสม พื้นที่สีเขียวบนโลกของเราก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละนิดจนกลายเป็นพื้นที่กรีนที่มีขนาดใหญ่อย่างแน่นอน

รายการอ้างอิง

กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กองดัชนีและเศรษฐกิจการค้า.(ธันวาคม 2566) ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ประจำเดือนธันวาคม 2566. สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า. https://tpso.go.th/infographic/detail/2401-0000000001

พัชรี สำโรงเย็น.(2556).คู่มือการเพาะปลูกสวนผัก & สมุนไพรคนเมือง.นาคา อินเตอร์มีเดีย

ศศิยา ศิริพานิช และทิพาพรรณ ศิริเวชฎารักษ์.(2561).สวนสวยกินได้. บ้านและสวน

 สาระ-พรรณ์.(2554). ปลูกผักข้างครัว ไม่ต้องกลัวสารพิษ : วิธีปลูกและสรรพคุณผักสวนครัว 35 ชนิด. Dดี

เรียบเรียงโดย
นางสาวภัทรศยา สนองผัน บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น