ร้อยภาพเล่าเรื่อง: พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ.2469) ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 14 ค่ำ ปีฉลู

พิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีสำคัญสำหรับพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่จะต้องประกอบพิธีเพื่อเป็นพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเริ่มโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จจากพระที่นั่งบรมพิมานไปยังหมู่พระมหามณเฑียร เพื่อประกอบพิธีสรงพระมุธาภิเษก ทรงผลัดภูษาทรงเศวตพัสตรและทรงสพักขาวขอบขลิบทอง ณ หอพระสุราลัยพิมาน เสร็จแล้วจึงเสด็จฯ สู่มณฑปพระกระยาสนาน ข้างพระมหามณเฑียรด้านตะวันออก ประทับบนอุทุมพรราชอาสน์ สมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ถวายน้ำสรงพระมุรธาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทองคำ ทรงจุดเทียนสังเวยเทวดากลางหาว ณ พระมณฑปมุรธาภิเษกสนาน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ถวายน้ำพระพุทธมนต์ ด้วยครอบพระกริ่งที่อังษาและพระหัตถ์จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเสด็จฯ สู่หอพระสุราลัยทรงเปลี่ยนพระภูษาทรงเครื่องแล้วเสด็จฯ สู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศ รับน้ำอภิเษกจากราชบัณฑิตและพราหมณ์ เมื่อเสร็จแล้วเสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐรับเครื่องบรมราชาภิเษก เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภค

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติราชภูษิตาภรณ์ ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงรับน้ำอภิเษกของราชบัณฑิต พราหมณ์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งพุดตาลทองคำรัตนสิงหาสน์ พร้อมด้วยเครื่องราชเบญจกกุภัณฑ์

เครื่องราชเบญจกกุธภัณฑ์ได้แก่ 1.พรมหาพิชัยมงกุฎ 2.พระแสงขรรค์ชัยศรี 3.ธารพระกรทองคำ 4.ฉลองพระบาทเชิงงอน และ 5.วาลวิชชนี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งพุดตาลทองคำรัตนสิงหาสน์ พร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายหน้าเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงราชศาสตราวุธ จากนั้นพระองค์ทรงฉลองพระองค์เครื่องพระบรมราชาภิเษก ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยฯ  มีพระบรมวงศานุวงศ์อ่านคำกราบบังคมทูลถวายชัยมงคลและถวายความสวามิภักดิ์และข้าทูลละอองทุลีพระบาท จากนั้นพระองค์ก็มีพระราชดำรัสตอบ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยสถิต ณ พระที่นั่งพุดตาลทองคำรัตนสิงหาสน์บนพระแท่นมหาเควตฉัตร เมื่อเสร็จสิ้นการออกมหาสมาคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเปลี่ยนฉลองจากพระมหาพิชัยมงกุฎ มาทรงพระชฎามหากฐินและเสด็จสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีฝ่ายในและพระบรมวงศ์านุวงศ์เข้าเฝ้าและเริ่มพระราชพิธีสถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี วรราชชายาเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อเสร็จสิ้นพิธี พระองค์เสด็จกลับพระที่นั่งบรมพิมานพร้อมสมเด็จพระราชินี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กระมพระยาดำรงราชานุภาพ อ่านคำประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายา ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ ทรงเจิมพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พราะบรมราชินี จากนั้นในตอนเย็น พระองค์เสด็จสู่พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ นมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และทรงประกาศเป็นองค์ศาสนูปภัมภก และเสด็จไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อเคารพพระบรมศพสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องพระบรมราชาภิเษกฉลองภูษาและฉลองพระบาทผ้าแพร่สีน้ำเงินทรงพระมหาเพรชมาลาน้อยเสด็จจากพระที่นั่งบรมพิมานไปพระราชมณเทียร เพื่อประกอบพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมาลาเพชรน้อย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายใน เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภคในการเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จออก ณ มุขเด็จ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนจากต่างประเทศและประชาชนเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล

ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมทรงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ศรีกรุง เนื่องในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

นิทรรศการออนไลน์ : พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7

บทความออนไลน์ : 25 กุมภาพันธ์ 2468 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เรียบเรียงโดย    

 ธนพล นนทสุตวงศ์ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ 

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมาตเหตุ. (2550.). ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. กรมศิลปากร.

พระยาประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รวมนันทน์). (2491). จดหมายเหตุบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว พุทธศักราช 2468.

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น