เครื่องราชาภิเษกและเครื่องมงคล ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 และกระทำสืบต่อมาในสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยยึดคติความเชื่อทั้งของหลักศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ว่า พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนองค์สมมติเทพที่อุบัติมาเพื่อคอยขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากของราษฎรและปกครองบ้านเมืองให้อยู่ดีมีสุข พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีความเกี่ยวข้องกับน้ำอภิเษกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการเข้ารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งหมายถึงการแต่งตั้งเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ รวมทั้งการถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร  

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์เป็นเครื่องราชอิสริยยศ 5 สิ่งที่แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่

พระมหาพิชัยมงกุฎ

เป็นเครื่องศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 มีขนาดความสูงรวมพระจอน 61 เซนติเมตร น้ำหนักรวม 7,300 กรัม เป็นสัญลักษณ์แห่งการเป็นประมุขของแผ่นดิน  

พระแสงขรรค์ชัยศรี

เป็นพระขรรค์เนื้อโลหะ ด้ามหุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพพนม ฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณี เป็นสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญและทรงไว้ซึ่งอำนาจ หรืออาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน

ธารพระกร

เป็นไม้ชัยพฤกษ์กลึงเป็นลำกลมหุ้มทองคำทั้งองค์ ปลายสุดเป็นซ่อมสามง่าม เป็นสัญลักษณ์แห่งการมีพระชนมายุยั่งยืนนาน และทรงไว้ซึ่งพระสติปัญญาอันยิ่งใหญ่

วาลวิชนี

ประกอบด้วยพัชนี เป็นพัดทำด้วยใบตาลรูปกลมรีขอบขลิบทองคำ ด้ามทำด้วยทองลงยา และพระแส้จามรี เป็นแส้ทำด้วยขนหางของโคชนิดหนึ่งเรียกว่าจามรี เป็นสัญลักษณ์ของความอยู่เย็นเป็นสุข และปัดเป่าทุกข์ภัยให้หมดสิ้นไปจากพสกนิกร

ฉลองพระบาทเชิงงอน

สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชร ด้านในบุกำมะหยี่ น้ำหนัก 650 กรัม เป็นสัญลักษณ์แห่งการทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพในทุกหนทุกแห่งที่ประทับพระบาทย่างก้าวไป พร้อมกับพระราชภาระอันหนักของแผ่นดิน 

เครื่องราชูปโภคและเครื่องมงคลในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร 

เครื่องราชูปโภค เป็นเครื่องใช้สอยประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ตั้งไว้บนโต๊ะข้างพระราชอาสน์ในที่พระมหากษัตริย์เสด็จประทับ ประกอบด้วย พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ พานพระขันหมาก พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราช

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายใน เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร และเครื่องราชูปโภค ในการเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมงคลในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ได้แก่ 

จั่นหมากทอง

มีลักษณะเป็นพวง ออกผลเป็นจำนวนมาก หมายถึงความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรือง

กุญแจทอง

หมายถึงการครอบครองกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของบ้านหรือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่  

เมล็ดพันธุ์พืช

ได้แก่ ข้าวเปลือก ถั่ว งา เป็นพืชหลักสำคัญที่ใช้ในการเพาะปลูกของคนไทย หมายถึงความอุดมสมบูรณ์  

พระแส้หางช้างเผือก

ทำจากขนหางช้างเผือกเพศผู้ตามคติความเชื่อประเพณีไทยว่าช้างเผือกเป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศ หมายถึงขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีให้ออกไป

วิฬาร์

ตามคติโบราณเชื่อว่าเมื่อมีการปลูกบ้านเสร็จและย้ายเข้ามาอยู่ใหม่จะต้องมีคนอุ้มแมวเข้าไป เชื่อว่าแมวมีไว้ดักจับหนู อีกทั้งช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้าย การอุ้มแมวในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรจึงมีความหมายในเรื่องของความโชคดี มีลาภ ให้อยู่เย็นเป็นสุข และขับไล่ภูตผีปีศาจหรือสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ มักนิยมใช้แมวตัวผู้ที่มีอายุ รูปร่างใหญ่ มีหนวด เรียกว่า “แมวคราว”

ไก่ขาว

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีการนำไก่ขาวเข้ามาในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเป็นครั้งแรก ประเพณีไทยเชื่อว่าการสร้างบ้านครอบครัวใหม่ต้องเลี้ยงไก่เพื่อขันบอกเวลา และเลี้ยงไว้กินไข่ ส่วนความเชื่อของชาวจีนให้เหตุผลว่าไก่ตัวผู้จะแสดงถึงความอบอุ่น ความมีชีวิตที่มีพลังจักรวาล ไก่ขาวสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายและภูตผีต่างๆ

ศิลาบ

เป็นความเชื่อโบราณทั้งคติอินเดียและไทยว่าในสมัยก่อนเราใช้หินบดสมุนไพรและเครื่องปรุงอาหารหินบดจึงมีความหมายในเรื่องความหนักแน่น และความไม่มีโรค

ฟัก

หมายถึงการอยู่เย็นเป็นสุข ตามความเชื่อว่าฟักเป็นผักเนื้อเย็น

ดอกพิกุลเงินพิกุลทอง

ดอกไม้มงคลที่มีความเชื่อว่าเป็นต้นไม้ในสวนของพระอินทร์ พระมหากษัตริย์ทรงเปรียบ เสมือนองค์สมมติเทพทรงโปรยดอกไม้จากสวรรค์ลงมาให้มวลมนุษย์ได้ชื่นชม เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์  

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

นิทรรศการออนไลน์ : พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7

บทความออนไลน์ : 25 กุมภาพันธ์ 2468 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เรียบเรียงโดย    

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ 

เอกสารอ้างอิง

นภาพร เล้าสินวัฒนา. (2549). การเสด็จขึ้นครองราชย์ : พระราชพิธี คติ ความหมายและสัญลักษณ์แห่งสมมติเทวราช. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 

ณัฏฐภัทร จันทวิช. (2530). พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรมศิลปากร. 

กระทรวงวัฒนธรรม. (2562). ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. รุ่งศิลป์การพิมพ์. 


เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น