ระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) รูปแบบอุดมศึกษายุคใหม่ไร้ขีดจำกัด เพิ่มสมรรถนะให้ผู้เรียน 

พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) ซึ่งเป็นระบบในการเทียบโอนความรู้ ความสามารถ หรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในหลักสูตรหรือรายวิชาที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้เป็นหลักสูตรในระบบคลังหน่วยกิต เช่น โครงการสัมฤทธิบัตร หลักสูตรระดับประกาศนียบัตร รายวิชาโมดูล (STOU MODULAR) โดยนำผลลัพธ์การเรียนรู้มาเก็บสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบไร้ขีดจำกัด

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาเพื่อให้เท่าทันและสอดรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนในระบบทางไกลที่รับนักศึกษาแบบไม่จำกัดเพศ อายุและคุณวุฒิ ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าได้ด้วยตนเองผ่านสื่อการศึกษาที่หลากหลายและทันสมัย ในลักษณะเป็นการศึกษาตลอดชีวิต

เมื่อ พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดทำแนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย โดยมีข้อบังคับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ว่าด้วยการศึกษาในระบบคลังหน่วยกิต พ.ศ. 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตและดำเนินการตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง แนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2562  

ระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) เป็นระบบและกลไกในการเทียบโอนความรู้ ความสามารถ หรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาทั้งในรูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยนำผลลัพธ์การเรียนรู้มาเก็บสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตของผู้เรียนในระบบคลังหน่วยกิตที่ได้ลงทะเบียนเรียนในบัญชีรายชื่อหลักสูตรหรือรายวิชาที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้เป็นหลักสูตรในระบบคลังหน่วยกิต เช่น โครงการสัมฤทธิบัตร หลักสูตรระดับประกาศนียบัตร รายวิชา MOOC รายวิชาโมดูล (STOU MODULAR) และหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นของมหาวิทยาลัย หรือหลักสูตรจากสถาบันการศึกษาอื่นที่จัดไว้เพื่อการศึกษาในระบบคลังหน่วยกิต โดยจัดเก็บหลักฐานในรูปแบบสมุดสะสมหน่วยกิตหรือแฟ้มสะสมหน่วยกิตออนไลน์ 

การศึกษาในระบบคลังหน่วยกิตเป็นการศึกษาที่ให้ความยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์ให้ผู้เรียนในทุกช่วงวัย โดยไม่จำกัดรูปแบบ วิธีการเรียน และระยะเวลาที่ใช้ในการเรียน สามารถสะสมหน่วยกิตในสถาบันอุดมศึกษาได้มากกว่า 1 แห่ง เมื่อเรียนครบหลักสูตรผู้เรียนสามารถนำผลลัพธ์การเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาเทียบโอนหน่วยกิตและสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยและลงทะเบียนเรียนสะสมหน่วยกิตได้ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ผู้เรียนต้องเข้ารับการวัดและประเมินผลโดยวิธีการต่าง ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เมื่อผู้เรียนสะสมหน่วยกิตได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในหลักสูตรมหาวิทยาลัยจะออกใบรับรองคุณวุฒิหรือใบสมรรถนะบัตรที่ระบุว่สำเร็จการศึกษาในระบบคลังหน่วยกิต ทั้งนี้ผู้เรียนในระบบคลังหน่วยกิตจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเกียรตินิยม  

การศึกษาในระบบคลังหน่วยกิตช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบไร้ขีดจำกัด สามารถพัฒนาสมรรถนะในการทำงานควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต และนำผลสัมฤทธิ์จากการเรียนรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียน สังคมและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน  

เรียบเรียงโดย    

วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ 

ภาพประกอบ 

ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ และพีระพงศ์ ตริยเจริญ ในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) การสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นเชิงนโยบายด้านวิชาการ ณ โรงแรมอัมรา สุรวงศ์ วันที่ 24 ธันวาคม 2562  

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2565). การประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งที่ 11/2565 วันที่ 27 ตุลาคม 2565 เรื่อง (ร่าง) ระเบียบ มสธ. เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในระบบคลังหน่วยกิต จำนวน 2 ฉบับ 

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2564). การประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งที่ 9/2564 วันที่ 30 กันยายน 2564 เรื่อง (ร่าง) ข้อบังคับ มสธ. ว่าด้วยการศึกษาในระบบคลังหน่วยกิต พ.ศ. …. 

      

   

  

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น