กิตติเมธีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช: กิตติบัตรพระราชทานเชิดชูเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นเลิศทางวิชาการ 

โครงการกิตติเมธี เป็นโครงการที่สร้างคุณค่าและส่งเสริมให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการให้ปรากฏในวงการศึกษา และสนับสนุนการพัฒนางานด้านวิชาการและการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความก้าวหน้าให้แก่วงวิชาการของประเทศไทยได้อย่างดียิ่ง 

เมื่อปี พ.ศ. 2528 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้มีนโยบายจัดให้มี โครงการกิตติเมธี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานและความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวิชาการต่าง ๆ ด้วยการเชิญผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์เป็นเลิศหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาหรือวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกษียณอายุหรือปลอดจากภาระงานประจำแล้วทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นกลุ่มทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งที่จะได้มีโอกาสใช้ความเป็นเลิศทางวิชาการหรือความเป็นผู้เชี่ยวชาญของตนในการทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติในวงวิชาการ 

ผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยเชิญเข้ามาร่วมโครงการกิตติเมธีจะมีสถานภาพเป็นสมาชิกของคณะกิตติเมธี ซึ่งมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในสาขาวิทยาการต่าง ๆ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจะจัดเตรียมบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่กิตติเมธีตามความเหมาะสม

กิตติเมธีของมหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. กิตติเมธีประจำสาขาวิชา หมายถึง ผู้ทรงคุณวุฒิที่มหาวิทยาลัยเลือกสรรและเชิญมาร่วมโครงการหรือกิจกรรมทางวิชาการตามข้อตกลงร่วมกัน มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี แต่อาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้

2. กิตติเมธีกิตติมศักดิ์ หมายถึง กิตติเมธีประจำสาขาวิชาที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 วาระ ซึ่งได้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยและได้รับการพิจารณาเห็นควรแต่งตั้งให้เป็นกิตติเมธีกิตติมศักดิ์ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือด้านวิชาการแก่มหาวิทยาลัย โดยไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องดำเนินโครงการหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับกิตติเมธีประจำสาขาวิชา  

ในปี พ.ศ. 2530 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งกองทุนกิตติเมธีและออกระเบียบมหาวิทยาลัยฯ ว่าด้วยกองทุนกิตติเมธี พ.ศ. 2530 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการกิตติเมธี โดยจัดสรรเงินรายได้จากเงินคงคลังของมหาวิทยาลัยเป็นทุนประเดิมจำนวน 30 ล้านบาท ส่วนการจัดสรรค่าใช้จ่ายของแต่ละโครงการได้มาจากการนำเงินผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุนมาจัดสรรเป็นรายปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้มีการแต่งตั้งกิตติเมธีประจำมหาวิทยาลัย 

แล้วในหลายสาขาวิชาซึ่งมีผลการดำเนินโครงการของกิตติเมธีและจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณชนแล้ว https://www.stou.ac.th/Thai/Distinguish/Kitti/first/ProfileKitti.pdf จากการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการที่ทรงคุณค่าและถ่ายทอดความรู้ไปสู่สังคม ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักวิชาการรุ่นหลัง เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติกิตติเมธีที่มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัย ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงได้มีการ ประกาศเกียรติคุณและมีพิธีพระราชทานกิตติบัตรให้กับกิตติเมธีของมหาวิทยาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. 2532 – 2566 ดังรายนามต่อไปนี้ 

กิตติเมธี สาขาวิชา ปีที่เข้ารับพระราชทานกิตติบัตร 
1. ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นครศิลปศาสตร์ พ.ศ. 2532 
2. ศาสตราจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลางศึกษาศาสตร์ พ.ศ. 2536 
3. ศาสตราจารย์ ดร.จรรยา สุวรรณทัต มนุษยนิเวศศาสตร์ พ.ศ. 2536 
4. ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต ศิลปศาสตร์ พ.ศ. 2537 
5. ศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร นิเทศศาสตร์ พ.ศ. 2566 

ศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร กิตติเมธีนิเทศศาสตร์ เข้ารับพระราชทานกิตติบัตร เมื่อ พ.ศ. 2566

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กิตติเมธีคนแรกของสาขาวิชาศิลปศาสตร์  เข้ารับพระราชทานกิตติบัตร เมื่อ พ.ศ. 2532  

ศาสตราจารย์ คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต กิตติเมธีสาขาวิชาศิลปศาสตร์ เข้ารับพระราชทานกิตติบัตร เมื่อ พ.ศ. 2537  

เรียบเรียงโดย    

วราภรณ์ ยงบรรทม บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ  

เอกสารอ้างอิง

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2528). การประชุมสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งที่ 6/2528 วันที่ 29 ตุลาคม 2528 เรื่อง (ร่าง) โครงการกิตติเมธีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ (ร่าง) ระเบียบมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชว่าด้วย กิตติเมธี พ.ศ. 2528. 

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2532, 2536-2537). สูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประจำปีการศึกษา 2530 และ 2534-2535.   

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น