สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ การรับราชการทหารในสยาม 

หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยวูลิช ประเทศอังกฤษ  พ.ศ. 2456 ได้เสด็จฯ เข้าประจำการในกองทหารปืนใหญ่ม้าเมืองอัลเดอร์ชอต ทรงได้รับยศร้อยตรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับประเทศไทย จึงทรงลาออกจากกองทัพอังกฤษและเสด็จกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2458 ประทับที่วังพญาไทยร่วมกับสมเด็จพระบรมราชชนนี และวังท่าเตียนในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถพระเชษฐา ทรงรับราชการประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ตำแหน่งนายทหารคนสนิทพิเศษของจอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์เสนาธิการทหารบก 

พ.ศ. 2458 ได้มีการซ้อมรบใหญ่ที่ทุ่งหันตรา มณฑลอยุธยา เป็นการฝึกทหารบกไทยเพื่อเตรียมความพร้อมไว้รับสงครามใหญ่ ในการซ้อมรบหรือการประลองยุทธแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายแดงและฝ่ายขาว ฝ่ายแดงภายใต้การนำของพันเอกหม่อมเจ้าทศศิริวงศ์ ยกพลจากลพบุรีและโคราชเข้าสู่อยุธยา ฝ่ายขาวมีผู้นำกองทัพประกอบด้วยพันเอกหม่อมเจ้าพันธุประวัติ ผู้สำเร็จวิชาทหารจากเยอรมนีเป็นแม่ทัพ คุมพลของกองทัพน้อยที่ 1 พระนครเข้าสู่ทุ่งหันตรา และร้อยเอกเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่แห่งกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 ก็ได้แสดงความสามารถในวิชาการทหารเป็นครั้งแรกที่ทุ่งหันตราด้วยเช่นกัน รวมทั้งพระยาเทพหัสดินซึ่งเป็นแม่ทัพฝ่ายเดียวกัน กองกำลังทหารทั้งสองฝ่ายหลายพันคนได้เปิดฉากประลองยุทธ์กันอย่างดุเดือด สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ทรงแสดงความสามารถในวิชาทหารโดยใช้แผนยุทธศาสตร์การรบตามแบบฉบับของทหารปืนใหญ่ม้าอัลเดอร์ชอตจนเป็นที่ประจักษ์แก่วงการทหารบกไทย ในปีต่อมาจึงได้รับพระราชทานพระยศเป็นพันตรีและพันโทตามลำดับ และทรงย้ายจากกองร้อยปืนใหญ่ไปเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นประถม 

ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
STOU Storian Podcast EP.10 พระราชประวัติการศึกษาในรัชกาลที่ 7

สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น