๔๗
การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสนับสนุนให้มีการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งพระอาราม นับเป็นการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ถัดมาจากสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามหลวงพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นพระอารามในเขตพระราชฐาน ตามโบราณราชประเพณีที่ถือสืบมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และเป็นวัดที่ตั้งพระราชหฤทัยให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตที่ทรงได้จากกรุงเวียงจันทร์ ประเทศลาว 

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตแห่จากวัดอรุณราชวราราม ฝั่งกรุงธนบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2327 และพระราชทานนามว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในทุก ๆ การครบรอบ ๕๐ ปี

การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วในสมัยรัชกาลที่ 7 

รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “คณะกรรมการจัดการทำนุบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” เมื่อ พ.ศ. 2470 เพื่อให้เสร็จทันพระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2475 โดยแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการได้ประมาณเงินที่ใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 600,000 บาท เมื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 200,000 บาท และรัฐบาลอนุมัติงบแผ่นดินอุดหนุน 200,000 บาท ส่วนที่เหลือใช้วิธีหาทุนโดยการรับบริจาคเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้บำเพ็ญกุศลร่วมกันตามแต่ศรัทธา ได้ประกาศบอกบุญแก่ประชาชน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2472 วันเดียวกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ออกประกาศเกี่ยวกับระเบียบการรับเงินเรี่ยไร รวมถึงของที่ระลึกแก่ผู้บริจาค ได้แก่ เหรียญพระแก้วมรกต  

เหรียญพระแก้วมรกต พ.ศ. 2475 

ลักษณะ เหรียญกลมขอบเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร  

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ปางสมาธิ ทรงเครื่องวสันตฤด ประทับนั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีผ้าทิพย์ห้อย และดอกไม้อยู่โดยรอบ

ด้านหลัง เป็นรูปยันต์กงจักร จารึกอักษร “อัฏฐังคิกมรรค” หรือ มรรค 8 อ่านว่า “ทิ สํ วา กํ อา วา ส สํ”

ทิสัมมาทิฐิ อาสัมอาชิโว
สํสัมมาสังกัปโป วา สัมมาวายาโม
วา สัมมาวาจาสัมมาสติ
กํ สัมมากัมมันโตสํสัมมาสมาธิ

ผู้ที่ร่วมสมทบทุนในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจะได้รับพระราชทานเหรียญพระแก้วมรกต ดังนี้

  1. ผู้บริจาคตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไป พระราชทานเหรียญพระแก้วทองคำ 
  2. ผู้บริจาคตั้งแต่ 20 บาท ขึ้นไป พระราชทานเหรียญพระแก้วเงิน 
  3. ผู้บริจาคตั้งแต่ 5 บาท ขึ้นไป พระราชทานเหรียญพระแก้วทองขาว (นิเกิล) 
  4. ผู้บริจาคตั้งแต่ 1 บาท ขึ้นไป พระราชทานเหรียญพระแก้วทองแดง  

รายการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  

รายการปฏิสังขรณ์ทั้งสิ้น 42 รายการ แบ่งเป็น 3 แผนก ได้แก่ แผนกพระอุโบสถ แผนกวิหารคตพระระเบียง และแผนกหอมณเฑียรธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝังคำจารึกรายการปฏิสังขรณ์บริเวณผนังด้านนอกของประตูพระอารามตะวันตก เพราะเป็นที่ที่คนเข้าออกมาก และได้มีพระบรมราชโองการให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงคำจารึกให้มีใจความโดยย่อ ดังนี้

“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในงานพระราชพิธีีฉลองพระนครครบรอบ 150 ปีบริบูรณ์ ทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อมาทุกรัชกาล”  

นอกจากนี้ ยังมีการบูรณะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และสร้างพระอุโบสถบนลานพระปฐมเจดีย์ใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่ชำรุดยากแก่การปฏิสังขรณ์ 

พระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 

4 เมษายน พ.ศ. 2475 เวลา 18.15 น. เสด็จในพระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามในโอกาสที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์ และทรงพระราชศรัทธาให้สร้างคัมภีร์พระธรรมเทศนาใหม่ จำนวน 150 จบ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีทรงเจิมคัมภีร์พระธรรมเทศนา ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานวียนเทียนฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามและฉลองคัมภีร์พระธรรมเทศนา และมีการแสดงมหรสพจนถึงกลางคืน 

5 เมษายน พ.ศ. 2475 เวลา 10.55 น. เสด็จฯ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงประเคนอาหารภัตต์ ทรงเจิมคัมภีร์พระธรรมเทศนา และทรงประเคนของที่ระลึกในงานฉลองพระนคร 150 ปี หลังจากนั้นเสด็จฯ ไปยังปราสาทพระเทพบิดร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบรมรูป สมเด็จพระอดีตมหาราชาธิราชเจ้า และโปรดเกล้าฯ ให้พนักงานเวียนเทียนฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฉลองคัมภีร์พระธรรมเทศนา รวมถึงมีการแสดงมหรสพจนถึงกลางคืน 

หลังจากเสร็จพระราชพิธี ในวันที่ 5-6 เมษายน เวลา พ.ศ. 2475 เวลา 14.00 – 24.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชน และพระสงฆ์สามเณรได้เข้านมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เที่ยวชมพระอาราม และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เนื่องในงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวันที่ระลึกมหาจักรี เพื่ออนุโมทนาสาธุการพระราชกุศลโดยทั่วกัน

ในวันที่ระลึกมหาจักรี 6 เมษายน เวลา 14.00 น. โปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์สามเณรชุมนุมทำวัตร สาธยายพระพุทธพจนะในพระอุโบสถและที่ศาลาหน้าปราสาทพระเทพบิดร

กรมศิลปากร. (2525). พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. อมรินทร์การพิมพ์.

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น