๔๓
รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสภูเก็ต

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2471 – 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 รวมระยะเวลา 7 วัน โดยมีพระราชประสงค์ประการแรก คือ ทรงทอดพระเนตรภูมิสถานบ้านเรือนและตลอดจนกิจการต่าง ๆ เช่น แร่ดีบุก และประการที่สองทรงพระราชทานบรมราชโรกาสให้ข้าราชการและประชาราษฎรได้เข้าเฝ้าฯ

จังหวัดภูเก็ต

” ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม “
(คำขวัญประจำจังหวัดภูเก็ต)

จังหวัดภูเก็ต เดิมทีนิยมเรียกว่า “เมืองถลาง” เป็นเพียงชุมชนเล็ก ๆ ด้วยพื้นที่เกษตรกรรมค่อนข้างจำกัด และดินที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์มากนัก จึงเป็นที่แวะพักของเรือสินค้าเท่านั้น ต่อมาเมืองถลางมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการขุดค้นพบแร่ดีบุก ประกอบกับในรัชสมัยพระบทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการให้สัมปทานที่เรียกว่า “การประทานบัตร” ทำให้การขุดแร่ดีบุกเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เมืองถลางจึงกลายเป็นเมืองท่าและการค้าสำคัญ ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามันที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในด้านความสวยงามของทิวทัศน์ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยว เช่น แหลมกระทิง แหลมพรหมเทพ เกาะพีพี หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นต้น

วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2471

เวลา 10.00 น. เรือพระที่นั่งถึงอ่าวภูเก็ต เสด็จขึ้นบกไปประทับแรมที่พลับพลา
เวลา 21.00 น. เวลาค่ำเสด็จทอดพระเนตรการตกแต่งโคมไฟ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เวลา 11.00 น. เสด็จออกศาลารัฐบาล ม.อ.ท. หม่อมเจ้าสฤษดิเดช สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต อ่านคำถวายชัยแล้วเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ราชการโดยที่มีพระราชดำรัสตอบว่า

“ที่เราลงเลียบภูเก็ตในครั้งนี้ มีความประสงค์เป็นข้อสำคัญ ก็คือ เพื่อจะได้เห็นภูมิสถานบ้านเมืองแลรู้กิจการต่าง ๆ ทางหัวเมืองมณฑลนี้ด้วยตนเอง กับอีกข้อหนึ่งซึ่งจะได้คุ้นเคยกับพวกชาวเมืองในมณฑลเป็นต้นตั้งแต่ข้าราชการตลอดจสมณะคณาจารย์พ่อค้าพาณิชย์แลราษฎรพลเมือง”

“อันหัวเมืองมณฑลภูเก็ตนี้ ผิดกับหัวเมืองมณฑลอื่นเป็นข้อสำคัญ ด้วยมีแร่ดีบุกมากกว่าที่อื่น การทำเหมืองแร่ดีบุกจึงเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง แลมีชนต่างด้าวเข้ามาประกอบการอาชีพในมณฑลนี้เป็นอันมาก”

เวลา 15.30 น. เสด็จวัดโฆสิตวิหารประพาสบริเวณเมืองแล้วไปตามถนนสายตะวันตกถึงอ่าวฉลองทอดพระเนตรเรือขุดแร่ดีบุก นายเอ.เลียต หัวหน้าบริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ถวายของและกราบบังคมทูลชี้แจงกิจการแล้วประทับเรือยนต์ไปทอดพระเนตรเรือขุดทำการขุดแร่ในอ่าว แล้วเสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เวลา 10.00 น. เสด็จโรงเรียน และเสด็จฯ ตำบลกระทู้ ทอดพระเนตรการทำเหมืองแร่ด้วยเรือขุดขนาดใหญ่ของบริษัทกระทู้หิน
เวลา 16.00 น. เสด็จอ่าวราไวย

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เวลา 10.00 น. ทอดพระเนตรเรือขุดแร่ดีบุก          
เวลา 20.00 น. เสวยพระกระยาหาร ณ ศาลารัฐบาล เสด็จเสวยพระกระยาหารค่ำที่ศาลารัฐบาล พ่อค้าจีนและแขกอินเดีย และผู้แทนนายเหมืองแร่เฝ้าฯ หัวหน้าพ่อค้าถวายพระพรชัยมงคล มีพระราชดำรัสตอบ ความตอนหนึ่งว่า

“จีนกับไทยที่จริงเหมือนกันญาติกัน ด้วยร่วมศาสนาแลมีจารีตประเพณีคล้ายคลึงกัน…จีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยามจึงเข้ากันได้สนิทสนม จนถึงร่วมสมพงศ์มีวงศ์วารเป็นไทยอยู่ในประเทศสยามเป็นอันมาก…ส่วนตัวเราก็ชอบจีน และปรารถนาจะรักษาประเพณีอันดีซึ่งมีมาแต่โบราณไว้ให้ถาวรสืบไป…พวกแขกชาวอินเดีย ถึงมีมาอยู่ในประเทศสยามน้อยกว่า จำนวนจีนก็ดีไทยเราถือว่าเป็นพวกที่ได้มีไมตรีกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ศาสนาและขนบธรรมเนียมต่างๆ ของไทยก็ได้มาจากอินเดียเป็นพื้น…ควรหวังใจได้ว่าจะได้รับความอุปถัมภ์บำรุงในประเทศสยาม ไม่น้อยหน้ากว่าชาวอินเดียไปอยู่ในประเทศอื่น”

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เวลา 10.00 น. เสด็จไปตำบลสระเงง (ระเงะ) ทอดพระเนตรการทำเหมืองสูบแล้ว เสด็จประพาสน้ำตกกลางและหาดสุรินทร์
เวลา 18.00 น. เสด็จกลับที่ประทับแรม

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เวลา 11.00 น. เสด็จยังตำบลนาลิกใกล้หาดสุรินทร์ ทอดพระเนตรการทำเหมืองหาบและเหมืองปล่อง
เวลา 15.30 น. เสด็จยังยูไนเต็ดคลับ พ่อค้านายเหมืองฝรั่งเฝ้าฯ กงสุลอังกฤษหัวหน้าคณะอ่านคำถวายชัย ทรงตอบแล้ว ประทับทอดพระเนตรการแข่งขันลอนเทนนิสแล้ว เสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เป็นวันที่ทรงว่างจากพระราชกิจ จนกระทั่งเวลา 16.15 น. โปรดให้พ่อค้าประชาราษฎรเฝ้าถวายของ พระราชทานเสมาเงินแก่เด็กชายหญิงที่มาเฝ้าทั่วกัน

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

เวลา 10.00 น. เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปตามถนนสายเหนือและถนนบุรฉัตรที่ตัดใหม่ถึงท่าฉัตรชัยแล้ว รถพระที่นั่งลงเรือขนานยนต์ข้ามช่องปากพระไปยังฝั่งท่านุ่น แล้วจึงเสด็จถึงจังหวัดตรังเป็นจังหวัดต่อไป

“เหมืองรู” วิธีทำเหมืองแร่ดีบุกของจังหวัดภูเก็ต

จังหวัดภูเก็ต ขึ้นชื่อเรื่องการทำเหมืองแร่ดีบุก และเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญของภาคใต้ การทำเหมืองแร่ดีบุกของจังหวัดภูเก็ตมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และเทคโนโลยี ในสมัยนั้นเรียกว่า “เหมืองรู” หรือ “เหมืองปล่อง” สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบการทำเหมืองแร่ดีบุกของจังหวัดภูเก็ตที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สำหรับวิธีการทำ “เหมืองรู” จะทำบริเวณเชิงเขา โดยใช้แรงงานคนในการขุด หรือเจาะผิวดินตามสายแร่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในลักษณะแนวราบและแนวดิ้ง มีขนาดรูพอให้คนเข้าไปได้ 1 คนและมีการเว้นปล่องเพื่อระบายอากาศ การทำเหมืองรูจะนิยมใช้แรงงานขั้นต่ำตั้งแต่ 2 คน และใช้อุปกรณ์ในการขุดดิน ได้แก่ จอบ เสียม บุกกี้และเชือก เมื่อได้ดินปนแร่แล้วจะนำเข้าสู่กระบวนการกู้แร่โดยการร่อนด้วยเลียงหรือการใช้รางกู้แร่ต่อไป ตัวอย่างพื้นที่ปรากฏหลักฐานการทำเหมืองรูในภูเก็ต เช่น เหมืองรู ในขุมเหมืองฉีดของบริษัทลุ่นเส้งที่บ้านบางคู ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต หรือ เหมืองรู บริเวณ ต.นาลึก หาดสุรินทร์ ที่บันทึกอยู่ในหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471

สถาบันพระปกเกล้า. (2543). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช 2471. สถาบัน.
ศิลปวัฒนธรรม. (2 กรกฎาคม 2564). ประมวลภาพเก่า “เมืองภูเก็ต” ครั้งรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาส. https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_58031
มิวเซียมภูเก็ต. (2563). “เหมืองรู” วิทยาการทำเหมืองแร่ดีบุกยุคโบราณ. https://www.facebook.com/museumphuket/posts/

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น