ชีวิตในวัง เมื่อทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเดียวกัน 8 พระองค์ รวมพระองค์ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายเป็น 9 พระองค์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชโอรสพระราชธิดาล้วนทรงมี “พระนามโดยลำลอง” ที่ใช้เรียกกันในพระราชสำนัก ดังนี้

1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ หรือ “ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่” (พ.ศ. 2421 – 2430) ภายหลังจากสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงนำทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชธิดามาสร้างเป็นถนน เพื่อเป็นอนุสรณ์และอุทิศส่วนกุศล พระราชทานนามว่า “ถนนพาหุรัด”

2. สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี หรือ “ทูลกระหม่อมโต” ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2423 – 2468) 

3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง หรือ “ทูลกระหม่อมกลาง” (พ.ศ. 2424 – 2430) 

4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หรือ “ทูลกระหม่อมเล็ก” (พ.ศ. 2425 – 2463) ทรงเป็นต้นราชสกุล “จักรพงษ์”

5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ หรือ “ทูลกระหม่อมเอียดใหญ่” (พ.ศ. 2428 – 2430)  

6. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (พ.ศ. 2430 สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ) 

7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา หรือ “ทูลกระหม่อมเอียดเล็ก” (พ.ศ. 2432 – 2478)  

8. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย หรือ “ทูลกระหม่อมติ๋ว” (พ.ศ. 2432 – 2478) 

9. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” (พ.ศ. 2436 – 2484) 

ชีวิตในวัง

ด้วยพระสถานภาพลูกคนเล็กและน้องคนเล็ก ทรงได้รับความเอ็นดูและถนอมเลี้ยงอย่างใกล้ชิด ทั้งจากทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่ ด้วยพระสถานภาพของพระองค์ทำให้ทรงสามารถศึกษาหาความรู้ตามความสนพระหฤทัยได้โดยไม่ต้องทรงรู้สึกว่าจะต้องทรงรับกรณียกิจหน้าที่ใดเป็นการเฉพาะ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงเล่นกับพระเชษฐาพระชันษาใกล้กันทั้งพระมารดาเดียวกันและต่างกัน รวมทั้งหม่อมเจ้าชายหญิงและธิดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่สมเด็จแม่ทรงพระราชอุปการะเลี้ยงดูไว้หลายพระองค์

หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา พระสหายในวัยเยาว์ ซึ่งถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถมาตั้งแต่ยังเยาว์ เล่าถึงตอนที่ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์เป็นครั้งแรก เมื่อยังเป็นพระราชกุมารองค์น้อยว่า

“ได้เห็นเด็กน้อยๆ รูปร่างแบบบางผิวขาว ทรงฉลองพระองค์แบบเสื้อกางเกงติดกันอย่างฝรั่งสีขาว ไว้พระเมาฬี (จุก) มีพวงมาลัยสวมรอบ ปักปิ่นพลอยอะไรอยู่กลาง เพชรรอบ มานั่งลงข้างสมเด็จ…ชาววังจะเรียกพระองค์ว่าทูลกระหม่อมเอียดน้อย…สมเด็จรับสั่งด้วยว่า “แม่ได้ข้าหลวงใหม่ พ่อเอียดเอาไปเล่นด้วยไหมจ๊ะ” ทูลกระหม่อมเอียดน้อยทรงยิ้มอ่อนหวาน แต่ไม่ได้รับสั่งตอบว่ากระไร รู้สึกว่าทรงอายหน่อยๆ”

และหม่อมศรีพรหมา เล่าถึงการละเล่นในวังว่า “การเล่นก็เล่นอย่างธรรมดา มีก่อบ้านด้วยไม้ เล่นตุ๊กตาทหาร เล่นหุงข้างแกงด้วยเตาฝรั่ง เล่นตีกลองเป่าแตร แล้วแต่ทูลกระหม่อมจะมีพระประสงค์จะเล่น แต่ที่เล่นสนุกที่สุดก็คือเล่นตี๊ต่างว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยครั้งหนึ่ง พระเชษฐาทรงกำหนดให้พระองค์ทรงเล่นเป็นพระราชาพาพระมเหสีและเจ้าจอมไปประพาสทางเรือ ซึ่งพระองค์ทรงเลียนแบบอากัปกิริยาที่ทรงสังเกตเห็นในชีวิตจริงจากราชประเพณีของพระราชบิดามารดา ทำให้ทรงกระทำหน้าที่การดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์สมมุติได้เป็นอย่างดี ทั้งคำพูดและท่าทาง คือพระราชบิดาทรงรับสั่งกับพระราชชนนีฉันใด พระองค์ก็ทรงจำได้ และทรงแสดงได้อย่างใกล้เคียงที่สุด พระราชจริยวัตรการเรียนรู้ด้วยการสังเกตของพระองค์ เมื่อทรงครองราชย์แล้ว ทรงมีพระราชดำรัสแก่ลูกเสือให้ฝึกสังเกตและหาเหตุผล และคิดแบบวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ การทรงเล่นบทบาทสมมุติเป็นพระราชาลักษณะนี้มีมากกว่าหนึ่งครั้ง และบ่อยครั้งที่พระองค์ไม่ทรงยอมแสดงบทเป็นพระเจ้าอยู่หัวและทรงรับสั่งว่า “ยกให้พี่แดงแล้วกัน” ซึ่งหมายถึง ถวายบทนั้นแก่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ด้วยเหตุว่า พระองค์ทรงเป็นน้อง ทรงถ่อมพระองค์และมีความเคารพในผู้ที่มีวัยวุฒิกว่าพระองค์ เป็นพระอุปนิสัยที่มีแต่นั้นมา

ร้อยภาพเล่าเรื่อง : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
STOU Storian Podcast EP.4 น้อมรำลึกวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ศรีพรหมา กฤดากร, หม่อม. (2550). อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร. สารคดี
สรวิช ภิรมย์ภักดี. (2561). ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า. พิพิธภัณฑ์สิงห์.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น