๑๖
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระมหากรุณาธิคุณต่อ มสธ. 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นอย่างมาก

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ทูลเกล้าฯ ถวายตราประจำ มสธ.

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2522 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้ก่อตั้งและอธิการบดีคนแรกของ มสธ. พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.เอี่ยม ฉายางาม และคณะผู้บริหาร เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยในวาระการสถาปนาครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 5 กันยายน และศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นผู้แทนถวายตราประจำ มสธ.

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้แทนถวายรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยในวาระครบรอบ 1 ปี

เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อมหาวิทยาลัย ซึ่ง “สุโขทัยธรรมาธิราช” เป็นมงคลนามที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตามพระนามทรงกรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 พระแสงศรสามองค์บนบันไดแก้วมาประกอบกับรูปเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย ในการนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชนี ได้พระราชทานกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่คณะผู้บริหาร  

ปีต่อมา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2523 มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 รายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้ “มีการบรรจุอาจารย์และบุคลากรเพิ่มเป็น 157 คน โดยมีกำหนดเปิดสอนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2523 ในระดับปริญญาตรี 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาการจัดการ คาดว่าจะมีผู้มาสมัครเรียนจำนวนกว่าหมื่นคนในภาคการศึกษาแรก” 

เมื่อปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชร่วมกับมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จัดสร้างถาวรวัตถุเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์ คือ “ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธยในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นชื่อห้อง โดยมีพิธีเปิดห้องอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด

ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ อาคารบรรณสาร ชั้น 2 มสธ.

“ห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” เป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเฉพาะด้านที่รวบรวมและให้บริการเผยแพร่สารสนเทศอันแสดงถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ระหว่าง พ.ศ. 2468 – 2477 ณ อาคารบรรณสาร ชั้น 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

มุมจัดแสดงหนังสือส่วนพระองค์

สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก.
ภาพิศุทธิ์ สายจำปา. สู่การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล. สถาบันพระปกเกล้า. http://wiki.kpi.ac.th

รัชกร คงเจริญ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น