๑๙
งานฉลองรัฐธรรมนูญ

หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คณะบุคคลซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะราษฏร” ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ และทรงลงพระปรมาภิไธยใน “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” เพื่อเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และเพื่อให้สมกับเป็นงานสำคัญของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเห็นควรให้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในปี พ.ศ. 2475 และจัดต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

วัตถุประสงค์ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ

งานฉลองรัฐธรรมนูญจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 มีวัตถุประสงค์หลักในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ประชาชนทั่วประเทศได้เข้าใจความหมายของรัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพและการศึกษา โดยมีสัญลักษณ์สนับสนุนแนวคิดหลัก 6 ประการ ได้แก่ เสา 6 ต้น ธงชาติ 6 ผืน และพานรัฐธรรมนูญ ที่สะท้อนแนวคิดให้เป็น “ของบูชา” ปรากฎอยู่ที่ตัวสินค้า ของที่ระลึกและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ ต่อมาได้ปรากฎอยู่บนวัตถุธรรมดา เช่น ขวดน้ำหวานและโอ่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนเกิดความคุ้นเคยต่อระบอบประชาธิปไตยแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวัน


ในกรุงเทพมหานครมีการปิดป้ายประกาศข้อความเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และมีการชักชวนให้ประชาชนตกแต่งบ้านเรือนด้วยประทีปโคมไฟ และในช่วงนั้นมีการจัดแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกคือ พิธีกรรมตามด้วยการแสดงปาฐกถาของผู้แทนราษฎรและตัวแทนของหน่วยราชการต่าง ๆ และส่วนที่สองคือ งานเฉลิมฉลอง อันเป็นงานที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนพลเมืองในระบอบใหม่ได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญผ่านงานรื่นเริง ที่จัดขึ้นบริเวณท้องสนามหลวง ตัวอย่างเช่น การจัดขบวนแห่ที่สอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับระบอบใหม่ และรัฐธรรมนูญ รอบเมือง โดยริ้วขบวนดังกล่าวเดินผ่านพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์ทรงประทับทอดพระเนตรขบวนแห่รัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรค์ปราสาท ริมถนนสนามไชย

นอกจากนี้ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าและการแสดงมหรภพ เช่น โขน ลิเก ละคร งิ้วและภาพยนตร์ เป็นต้น ไม่เพียงกิจกรรมที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ยังร่วมกันประกาศก้องถึงการมีรัฐธรรมนูญไปยังต่างจังหวัด จากรายงานการมีการจัดในหลายจังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ปราจีนบุรี อยุธยา พายัพ พิษณุโลก ราชบุรี นครราชสีมาและอุดร เป็นต้น

หนังสือที่ระลึกชื่อว่า “เทอดรัฐธรรมนูญ”

ภาพความคึกคักของงานฉลองรัฐธรรมนูญมีอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ มา ในปี พ.ศ. 2476 หลังจากที่รัฐบาลสามารถปราบกบฏบวรเดชสำเร็จในเดือนตุลาคม และเพื่อเป็นการแสดงถึงอำนาจและเฉลิมฉลองชัยชนะของ คณะราษฏรเหนือฝ่ายกบฏ จึงมีการจัดฉลองรัฐธรรมนูญอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ในวันที่ 8-2 ธันวาคม ในวันดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จมาประกอบพิธีสมโภชรัฐธรรมนูญ ทรงร่วมทอดพระเนตรการออกร้านจัดแสดงสินค้า และทรงรับสั่งให้ทหารเรือนำเรือหลวงรัตนโกสินทร์มาจัดแสดง ซึ่งมีประชาชนสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ความพิเศษในปีดังกล่าวมีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกชื่อว่า “เทอดรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเนื้อหาที่ปรากฏในเล่มจะมีคำอธิบายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เช่น บทความ “สละชีพเพื่อชาติ” หรือ บทกวีเรื่อง “ทหารหาญสดุดี” ของพระราชธรรมนิเทศ และเรื่องสั้นของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เรื่อง “ลาก่อนรัฐธรรมนูญ” เป็นต้น

เปิดตัวสลากในวาระพิเศษในงานฉลองรัฐธรรมนูญ


นอกจากนี้ยังมีการออกสลากในวาระพิเศษในงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์ระดมหาทุนอุดหนุนการเผยแพร่รัฐธรรมนูญ มีจำนวนการขายวันละ 50,000 ฉบับ ฉบับละ 1 บาท และมีการออกสลากทุกวัน โดยรางวัลที่ 1 มีมูลค่า 10,000 บาท ซึ่งรายได้จากการขายสลากถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ให้การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญและกองทัพ และส่วนที่สอง แบ่งให้กับกิจกรรมเผยแพร่รัฐธรรมนูญ อาทิ สมาคมรัฐธรรมนูญ สมาคมรัฐธรรมนูญกรุงเทพฯ สมาคมธนบุรี และสโมสรคณะราษฎร เป็นต้น

กำเนิดนางสาวสยามสู่ต้นแบบนางสาวไทย

ความยิ่งใหญ่ของรัฐธรรมนูญไม่ได้หยุดแค่ภายในประเทศเท่านั้น ยังขยายไปยังสถานทูตไทยในต่างประเทศ จากการรายงานของสื่อต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2477 มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ เช่น ปีนัง คนสยามไปชุมนุมกันที่วัดบาตูลันจังเพื่อ “ชัยชนะของรัฐธรรมนูญ” ปารีส ที่มีการจัดเลี้ยงอาหารค่ำระหว่างข้าราชการและนักเรียนไทยที่อยู่ตำบลใกล้เคียง และ ลอนดอน นาโงยา โตเกียว สิงคโปร์ ฮัมบูร์ก โรมไซ่งอน มะนิลาและจาการ์ตา เป็นต้น ในปีนั้นมีการประกวดนางงามที่เรียกว่า “นางสาวสยาม” ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายในพระราชอุทยานสราญรมย์ สโมสรคณะราษฎร โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวดขึ้น เพื่อเฟ้นหาหญิงสาวที่สวยที่สุดในประเทศนี้ และเป็นการเปิดพื้นที่ให้สตรีแสดงสิทธิสำแดงตัวตนในสังคม พร้อมแสวงหาสัญลักษณ์ที่เป็นศรีสง่าแก่ระบอบประชาธิปไตยและชาติ ในค่ำคืนนั้นมีสุภาพสตรีเข้าร่วมประกวดจำนวน 50 ท่าน สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ มงกุฎโครงทำด้วยเงินประดับเพชร หุ้มกำมะหยี่ปักด้วยดิ้นเงิน ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ ขันเงินสลักชื่อ นางสาวสยาม 77 และเงินสด 1 พันบาท สำหรับนางสาวสยามคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ นางสาวกันยา เทียนสว่าง ก่อนจะเปลี่ยนชื่อจาก “นางสาวสยาม” มาเป็น “นางสาวไทย” ในปี พ.ศ. 2482  เนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อประเทศตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเปลี่ยนจากคำว่า “สยาม” เป็นคำว่า “ไทย” 

การสิ้นสุดของงานฉลองรัฐธรรมนูญ

งานฉลองรัฐธรรมนูญยังคงจัดต่อเนื่องขึ้นทุกปี กลายเป็น “มหกรรมแห่งชาติ” ที่ยิ่งใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ก่อนจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการภายหลังการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2501 ล้วนมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เช่น ในปี พ.ศ. 2483 การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ  การสิ้นสุดของงานฉลองรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น แนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไป และวิกฤตที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ ทำให้วันที่ 10 ธันวาคม เดิมประกาศเป็นวันรัฐธรรมนูญถูกปรับเปลี่ยนเป็นวันสิทธิมนุษยชนทับซ้อนลงไป แม้ปัจจุบันจะคงมีวันรัฐธรรมนูญอยู่ แต่พิธีก็จำกัดเฉพาะราชสำนักหรือส่วนรัฐบาลเท่านั้น และความหมายของงานก็เป็นไปเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อปี พ.ศ. 2475

ซันวา สุดตา. (2563). อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ความหมายและส่วนประกอบ. พิพิธภัณฑ์รัฐสภา. https://parliamentmuseum.go.th/2564/ar64-monument.html
บุณฑริก เชมาชีวะ. (2563). งานฉลองรัฐธรรมนูญ-มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค.พิพิธภัณฑ์รัฐสภา. https://parliamentmuseum.go.th/ar63-feast.html
นิตยสารสารคดี. (2564). ย้อนอดีต 6 เรื่องรื่นเริงที่เคยเกิดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ. สถาบันปรีดี พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/content/2021/12/929
ณัฐพล ใจจริง. (2565). คือเทพีแห่งรัฐธรรมนูญ : ประกวดนางสาวสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2477. มติชนสุดสัปดาห์. https://www.matichonweekly.com/column/article_518855
ปรีดี หงษ์สตัน. (ม.ป.ป.). มองงานฉลองรัฐธรรมนูญในแง่การเมืองวัฒนธรรมหลังการปฏิวัติ 2475. จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. https://kpi-lib.com/library/books/kpibook-19394/

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น