๒๑
สัญลักษณ์ประชาธิปไตย (สมุดไทย,พานแว่นฟ้า และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)

หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ราษฎรตระหนักถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องมือที่ใช้กำหนดรูปแบบการเมืองการปกครองของสยาม และเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นนามธรรมจึงถูกเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรม เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สร้างการจดจำและระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้แก่ สมุดไทย, พานแว่นฟ้า หรือพานรัฐธรรมนูญ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญถูกเขียนลงใน “สมุดไทย”

ภาพจำสัญลักษณ์ที่มาพร้อมกับพานแว่นฟ้า คือ “รัฐธรรมนูญ” ที่ทูนอยู่บนพานแว่นฟ้า สื่อถึงระบอบประชาธิปไตย ได้ถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของเทศบาลต่าง ๆ เพื่อให้ “ระบอบใหม่” แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน อย่างแพร่หลาย จากคำกล่าวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยและประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ระหว่างการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

“…ได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร ทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้น เป็นของสำคัญที่ยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม…และโดยทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้น ต้องการจะเขียนในสมุดไทย”

รัฐธรรมนูญถูกเขียนลง “สมุดไทย” ซึ่งทำจากกระดาษไฮเวท ที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อรองรับการเขียน การชุบตัวอักษร การเขียนภาพและลายเส้นต่าง ๆ โดย “สมุดไทย” มีขนาดความกว้าง 13.5 เซนติเมตร และมีความยาว 45.5 เซนติเมตร สำหรับขั้นตอนในการจารึกลง “สมุดไทย” เมื่อได้กระดาษมาเจ้าหน้าที่ลิขิตจะเขียนตามแผ่นบันทึกข้อมูล จำนวนตัวอักษร วรรคตอน ต่อ 1 บรรทัด โดยใน 1 หน้า หรือ 1 พับ มีอักษร 4 บรรทัด โดยใช้ตัวอักษรที่เรียกว่า “รัตนโกสินทร์” พร้อมติดตรา “พระครุฑพ่าห์” บนปกรัฐธรรมนูญสมุดไทย เล่มละ 1 ดวง เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น รัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย 3 ฉบับ จะถูกห่อด้วย “ผ้าเยียรบับ” ในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ 1 ครั้ง ต้องจัดทำขึ้นเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับต้นจำนวน 1 ฉบับ และคู่ฉบับจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ จะมีข้อความและลายมือที่เขียนเหมือนกันทุกประการ เพื่อเก็บรักษาแยกกันตามธรรมเนียมโบราณ เผื่อหากบ้านเมืองประสบภัยสงคราม หรือฉบับใดฉบับหนึ่งเกิดสูญหายไป ก็จะมีฉบับที่เหลือไว้ให้สอบทานได้ และจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญมาเขียนลงในสมุดไทยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

นับตั้งแต่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทยเป็นฉบับถาวรฉบับแรก เมื่อปีพุทธศักราช 2475 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมาแล้วจำนวนทั้งสิ้น 18 ฉบับ แต่รัฐธรรมนูญที่มีการจารึกหรือเขียนลงในสมุดไทยนั้น จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการร่างตามกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งมีจำนวน 10 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทยยังคงถูกเขียนหรือที่เรียกว่า “ชุบ” ตามธรรมเนียมโบราณเป็นสิ่งที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

พานแว่นฟ้า เสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย

พานแว่นฟ้า หรือ พานรัฐธรรมนูญ  ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความเสมอภาค และความเป็นประชาธิปไตย หมายถึง การเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือน 3 (นับตามแบบไทย) และอำนาจอธิปไตย บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการอันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นของสูง สื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ และพระราชพิธีเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของ “พานแว่นฟ้า” เป็นพานขนาดใหญ่ ซ้อนกัน 2 ชั้น ใช้สำหรับวางผ้าไตร หรือสิ่งสำคัญของประเทศ เช่น รัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ. 2475 มีการนำมาจัดแสดงครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รู้จักว่ารัฐธรรมนูญมีหน้าตาอย่างไร และเปิดให้ประชาชนร่วมทำความเคารพ

และต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการจัดสร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น จากแนวคิดของ นายจำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฏรจังหวัดน่าน ได้เสนอให้อัญเชิญรัฐธรรมนูญจำลองไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเผยแพร่รัฐธรรมนูญให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น จึงจัดสร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้นจำนวน 70 ชุด โดยมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้ควบคุมดูแล และประสานกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในเรื่องการออกแบบจนได้มาเป็นสมุดไทยลงรักปิดทองวางบนพาน 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า “พานรัฐธรรมนูญ” ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด สามารถพบเจอได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ อนุสาวรีย์ที่มีรัฐธรรมนูญทูนอยู่บนพานแว่นฟ้า ตรามหาวิทยาลัย เหรียญ สลาก วัด หรือแม้กระทั่งที่เขี่ยบุหรี่

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มรดกทางสถาปัตยกรรมของคนไทย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งตระหง่านใจกลางกรุงเทพมหานคร ถือเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่หนึ่งที่สำคัญและยังคงหลงเหลือให้ประชาชนได้รำลึกถึงเหตุการณ์ที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2482 สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โดยรายละเอียดการจัดสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยล้วนมีความหมายที่ถอดออกมาจากตัวเลขซึ่งมีความสัมพันธ์กับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทั้งสิ้น อันได้แก่ 

  • ปีกทั้ง 4 ด้านของอนุสาวรีย์ สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร รัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 มิถุนายน วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  • ปืนใหญ่ 75 กระบอกโดยรอบ หมายถึง พ.ศ. 2475 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  • ภาพดุนที่ฐานปีก หมายถึง ประวัติการดำเนินงานของ “คณะราษฎร” ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  • พานรัฐธรรมนูญตั้งบนป้อมกลางสูง 3 เมตร หมายถึง เดือนที่ 3 คือเดือนมิถุนายน เดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เดิมการนับปีใหม่ เริ่มจากเดือนเมษายน เป็นเดือนที่ 1)
  • พระขรรค์ 6 เล่ม ประกอบบานประตูรอบป้อมกลาง หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันเป็นนโยบายของคณะราษฎร ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา

ไทยพับลิก้า. (ม.ป.ป). กว่าจะมาเป็นรธน. สมุดไทย “ประเพณี-ความขลัง ประชาธิปไตย”-ฉบับไหนที่ถูกจารึก. https://thaipublica.org/2016/12/samut-thai-constitution-2560/
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์. (ม.ป.ป).รัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้า พระราชทานลงมาหรือถวายขึ้นไป. ไทยรัฐออนไลน์. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/100806
ทวียศ ศรีเกตุ. (ม.ป.ป).รัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย. สถาบันพระปกเกล้า.

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น