๓๑
“หนังสือส่วนพระองค์” ในรัชกาลที่ 7 แหล่งเรียนรู้อันทรงคุณค่าทางการศึกษาตลอดชีวิต 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสนพระทัยการอ่านหนังสือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยความใฝ่รู้ของพระองค์เป็นอย่างดี หนังสือที่ทรงอ่านมีเนื้อหาหลายหลายทั้งทางด้านศาสนา ปรัชญา ภาษา กฎหมาย การเมืองการปกครอง การทหาร วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ศิลปะ กีฬา วรรณกรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และนวนิยาย เป็นหนังสือหลายภาษา ทั้งภาษาไทย อังกฤษ ฝรั่งเศษ เยอรมัน และอิตาลี

“…ถ้าไม่ชอบอ่านหนังสือแล้วก็มีแต่จะโง่ลงทุกวัน เพราะมีความรู้อะไรขึ้นก็ไม่ต้องรู้ ถ้าอ่านหนังสือ แม้เปนนิทาน หรือ Novel เรื่องอ่านเล่น ก็คงจะได้รับความรู้อะไรบ้าง ไม่มากก็น้อยทุกทีไป เพราะฉะนั้นควรพยายามอ่านเสียบ้าง…”

ความตอนหนึ่งของพระราชหัตถเลขาถึงพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรมในรัชกาลที่ 7 ที่ทรงสอนเรื่องการอ่านหนังสือ แสดงให้เห็นถึงทรงให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือ พระองค์ทรงมีความรอบรู้อย่างกว้างขวางด้วยทรงเรียนรู้จากหนังสือ ในระหว่างที่ทรงครองราชย์ พระราชกิจรายวันได้บันทึกไว้ว่า

“วันที่ไม่มีพระราชกิจ ยามบ่ายจะทรงออกกำลังพระวรกายแล้วจึงทรงพักผ่อนและทรงหนังสือเล่ม ในวันธรรมดา เมื่อเสวยพระกระยาหารค่ำในเวลา 20.30 น. แล้ว ทรงหนังสือเล่ม ยกเว้นวันเสาร์ จะเปลี่ยนเป็นทอดพระเนตรภาพยนตร์”

ป้ายบรรณสิทธิ์ในหนังสือส่วนพระองค์

หนังสือส่วนพระองค์มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ที่ด้านหลังของปกหนังสือหรือใบรองปกมีป้ายบรรณสิทธิ์ (Bookplate) ซึ่งเป็นป้ายแสดงว่าเป็นหนังสือของพระองค์ และมีตรายางประทับพระปรมาภิไธยอยู่ภายในตัวเล่ม บางเล่มมีลายพระราชหัตถ์ลงพระปรมาภิไธยไว้ นอกจากนี้บางเล่มมีวันเดือนปีที่เป็นลายพระราชหัตถ์ไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวเล่ม เช่น ด้านหลังของปกหนังสือ บางเล่มมีประวัติการถวายหรือพระราชทาน หรือมีประวัติการครอบครองว่าเคยเป็นของผู้ใดมาก่อน

หากพิจารณาจากป้ายบรรณสิทธิ์จะมีหนังสือส่วนพระองค์ที่ทรงอ่าน ใน 3 ยุคสมัยตั้งแต่ (1) เมื่อครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (2) สมัยทรงครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และ (3) เมื่อพระองค์ทรงสละราชสมบัติ 

ป้ายบรรณสิทธิ์หนังสือส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มี 3 ลักษณะป้าย ดังนี้

  1. ป้ายพระนามรัชกาลที่ 7 ใช้พระนามภาษาอังกฤษว่า H.R.H. Prince Prajadhipok มีความหมายว่า พระองค์ทรงครอบครองหนังสือเล่มนั้นก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์

  1. ป้ายตราพระปรมาภิไธย ปปร. มีความหมายว่า พระองค์ทรงครอบครองหนังสือเมื่อครั้งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ช่วงพ.ศ. 2468 – 2477 และใต้พระปรมาภิไธยมีพระคติพจน์ประจำพระองค์ภาษาบาลี จารึกว่า “โยคาเว ชายเตภูริ อโยคา ภูริสังขโย” หมายถึง “ปัญญาย่อมเกิดขึ้นเพราะประกอบ เสื่อมสิ้นไปก็เพราะไม่ประกอบ” เป็นพระคติสอนใจด้านความเพียรที่ก่อให้เกิดปัญญา

  1. ป้ายพระนามภาษาอังกฤษ Prajadhipok ด้านบนเป็นตัวอักษร “ปศ” ที่เป็นรูปเหมือนงูขดตัวพันกัน ตามปีมะเส็ง (ปีงูเล็ก) ปีที่พระราชสมภพ ป้ายมีความหมายว่า พระองค์ทรงครอบครองหนังสือภายหลังทรงสละราชสมบัติ ด้านล่างมีบทกวีเรื่อง A Nook and A Book ของ William Freeland และมีพระนามภาษาอังกฤษบริเวณด้านล่างว่า “Prajadhipok Prince of Sukhodhya” หรือพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ที่ทรงใช้เมื่อก่อนทรงครองราชย์

หนังสือส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าและมีความน่าสนใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใส่พระทัยในการอ่านและพระอัจฉริยภาพ  หลายเล่มพระองค์ทรงอ่านอย่างต่อเนื่อง บางเล่มยังปรากฎตราประทับวชิราวุธของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชมรดกสืบทอดกันมา 

เมื่อปี พ.ศ. 2537 คุณหญิงมณี สิริวรสาร อดีตหม่อมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชบุตรบุญธรรมผู้รับพระราชมรดกในรัชกาลที่ 7 ได้มอบหนังสือส่วนพระองค์ส่วนหนึ่งให้แก่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เนื่องในโอกาสจัดตั้งห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติในวาระครบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 

สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปก. สำนัก.

กวิสรา เรือนทองใบ บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น