๓๙
รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสระนอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 28-30 มกราคม พ.ศ. 2471 รวมระยะเวลา 3 วัน ตลอดระยะเวลาที่พักแรมในจังหวัดระนอง พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานับประการ เช่น ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงทอดพระเนตรสถานบ้านเมือง ภูมิประเทศ ตลอดจนกิจการต่าง ๆ และทรงให้ความสำคัญกับบุคคลอันสร้างคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างสกุล “ณ ระนอง”

จังหวัดระนอง

“คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง”
(คำขวัญประจำจังหวัดระนอง)

จังหวัดระนอง หรือเดิมชื่อ “แร่นอง” จังหวัดแรกของภาคใต้ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลอันดามัน ในอดีตนั้นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองดีบุกและเมืองชายแดน เป็นจังหวัดที่มีประชากรอยู่น้อย ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพรับจ้างขุดแร่ดีบุกไปขาย โดยมีเจ้าอากรภาษีรับผูกขาดอากรดีบุกเป็นผู้รวบรวมและจัดส่งส่วยอากรแร่ดีบุกให้กับทางราชการ ด้วยความเป็นผู้นำที่ดีและเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน นายนอง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงระนอง” ถือว่าเป็นเจ้าเมืองคนแรก นอกจากนี้จังหวัดระนองยังได้ชื่อว่าเป็นเมือง “ฝนแปด แดดสี่” เพราะมีช่วงฝนตกยาวนานถึง 8 เดือน และฝนแล้งเพียง 4 เดือน นับเป็นจังหวัดที่ฝนตกชุกมากที่สุดในประเทศไทย จึงง่ายต่อการเพาะปลูก ได้แก่ การปลูกผลไม้ สวนยางและปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2471

เวลา 15.20 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีถึงอ่าวจังหวัดระนอง บริเวณน่านน้ำมีเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทอดอยู่ ณ ที่นั้น ยิงปืนถวายดำนับ 21 นัด  เรือพระที่นั่งทอดแล้ว ม.อ.ท.หม่อมเจ้าสฤษดิเดช สมุหเทศาภิบาลภูเก็ต นำผู้ว่าราชการจังหวัดเฝ้าบนเรือพระที่นั่ง ต่อมาเวลาค่ำที่บนฝั่งปากน้ำจังหวัดระนอง จุดโคมประทีปโคมและจุดดอกไม้ไฟถวาย พระองค์ทรงประทับแรมในเรือพระที่นั่ง 1 ราตรี

วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2471

เวลา 10.20 น. ทรงเรือยนต์พระที่นั่งจากเรือพระที่นั่งมหาจักรีเสด็จประพาสลำน้ำปากจั่นเลียบฝั่งผ่านวิคตอเรียพอยท์
เวลา 15.30 น. ทรงเรือกรรเชียงพระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี เรือยนตร์จูงไปตามลำน้ำระนองเทียบที่ท่าเมืองมีข้าราชการ พ่อค้า และราษฎร คอยเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก ผู้ว่าราชการจังหวัดทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมือง จากนั้นทรงรถยนตร์พระที่นั่งสู่ตำหนักรัตนรังสรรค์ซึ่งจัดเป็นที่ประทับแรม ระวางทางซึ่งเสด็จผ่านมีราษฎรตั้งเครื่องบูชาตามหน้าบ้านและคอยเฝ้าตลอดทาง
เวลา 17.00 น. ทรงรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักรัตนรังสรรค์เสด็จประทับพลับพลาประทับร้อนที่ใกล้บ่อน้ำร้อน เสวยเครื่องว่าง ซึ่งสกุล ณ ระนองจัดถวาย ระวางนี้กระบวนช้างบรรทุกแร่พื้นเมืองเดินถวายทอดพระเนตร แล้วเสด็จกลับที่ประทับแรม เวลาค่ำหลังเสวย มีการแห่โคมไฟ มหรสพพื้นเมือง และละครพม่าแสดงถวายทอดพระเนตรด้วย

วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2471

เวลา 10.30 น. เสด็จออกพลับพลายกหน้าพระตำหนักรัตนรังสรรค์พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ประทับพระราชอาศน์ ให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนเฝ้าฯ อ.ท.พระยาอมรศักดิ์ประสิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง อ่านคำถวายชัยในนามของข้าราชการและประชาชน อ.อ.พระยาทวีวัฒนากร ผู้แทนสกุล ณ ระนอง อ่านคำถวายพระพรชัยในนามของสกุล ณ ระนอง และพระองค์ทรงดำรัสตอบดังว่า

“…ด้วยเห็นว่าเมืองระนองถึงอาณาเขตต์แลผู้คนพลเมืองไม่สู้มากมายก็จริง แต่หัวเมืองอยู่ต่อแดนต่างประเทศทั้งเป็นที่มีการทำเหมืองแร่มากด้วยอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นเราเคยได้ทราบว่าสมเด็จพระบรมชนกนารถฯ กับทั้งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของเราโปรดเมืองระนองนี้ทั้งสองพระองค เราจึงใคร่มาเห็นบ้าง เมื่อมาเห็นบ้านเมืองมีความเจริญดีอยู่ก็ยินดีด้วยประสงค์ทุกประการดังมุ่งหมายมา…”

จากนั้นพระราชทานตราและสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์แล้ว สกุล ณ ระนอง ถวายของซึ่งได้พร้อมกันจัดสรรขึ้นด้วยความจงรักภักดี และพระองค์ทรงรถยนต์พระที่นั่งไปยังฮวงซุ้ย สกุล ณ ระนอง ทรงวางพวงมาลา ณ ที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริต (คอซูเจียง) ผู้เป็นต้นสกุล และพระราชทานพวงมาลาแก่พระยาทวีวัฒนากร เพื่อไปวาง ณ ที่ฝังศพพระยาดำรงสุจริต (คอซิมก้อง) และพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊) ด้วยแล้วเสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม โปรดให้พระยาเทวาธิรารไปเยี่ยมพระยาดำรงสุจริต (คอยู่หงี ณ ระนอง) ซึ่งป่วยเป็นโรคลมอัมพาตไม่สามารถจะมาเฝ้าได้

เวลา 14.00 น. เสด็จออกพระตำหนักรัตนรังสรรค์ หัวหน้ามหาดเล็กเวรศักดิ์นำบุตรหลวงในสกุล ณ ระนอง เฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก 14 คน พระราชทานของส่วนพระองค์เพื่อเป็นการตอบแทนแก่ผู้ที่ได้จัดการต้อนรับแล้ว ทรงรถยนต์พระที่นั่งสะพานท่า มีข้าราชการกรมการพิเศษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเข้าเฝ้า ประทับเรือยนตร์พระที่นั่งเสด็จสู่เรือพระที่นั่งมหาจักรี
เวลา 16.00 น. เรือพระที่นั่งมหาจักรกรีออกจากอ่าวระนองไปยังจังหวัดภูเก็ต เรือพระที่นั่งเดินทางตลอดคืน

สกุล ณ ระนอง

สกุล ณ ระนอง เป็นนามสกุลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้แก่พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ต้นสกุลที่มาจากประเทศจีน เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดระนอง และเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมแร่ดีบุกคนแรกในประเทศไทย เดิมท่านชื่อว่า คอซู้เจียง เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ 3 และมีอาชีพเป็นพ่อค้าที่เมืองตะกั่วป่าและพังงา ด้วยความสนใจใฝ่เรียนเรียนรู้ จึงได้รู้ว่าทางจังหวัดภาคใต้ของประเทศนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมีเหมืองแร่ มีป่าไม้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตในทางพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมอยู่เป็นอันมาก ด้วยความขยันและชาญฉลาด คอซู้เจียง ทำให้การค้าเจริญก้าวหน้าเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในเมืองสมัยนั้น คอซู้เจียง มีบุตร 11 คน 1 ใน 11 คน คือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ผู้รับราชการเมื่อรับตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ได้พัฒนาปรับปรุงสภาพหลายอย่างในเมืองตรังให้เจริญรุ่งเรืองหลายอย่าง ด้วยกุศโลบาลส่วนตัวที่แยบยล เช่น การตัดถนนที่ไม่มีผู้ใดเหมือน รวมทั้งส่งเสริมชาวบ้านให้กระทำการเกษตร เช่น ให้เลี้ยงไก่โดยบอกว่า เจ้าเมืองต้องการไข่ไก่ ให้เอากาฝากออกจากต้นไม้ โดยบอกว่าเจ้าเมืองต้องการเอาไปทำยา ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ และยางพารา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำยางพารามาปลูกที่ภาคใต้ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นในปัจจุบัน นับว่าตระกูล ณ ระนองเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ก้าวหน้า

พระที่นั่งรัตนรังสรรค์

พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศแก่เมืองระนอง และสกุลของผู้สร้าง มีความหมายว่า  พระที่นั่งที่พระยารัตนเศรษฐีเป็นผู้สร้าง ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรม แบบ Europe cabanas มีลักษณะเป็นกลุ่มเรือนไม้ขนาดใหญ่ มีทางเดินเชื่อมต่อกันโดยตลอด องค์พระที่นั่งสร้างด้วยไม้สักและไม้กระยาเลย ส่วนฝาพระตำหนักใช้ไม้ระกำ หลังคาเป็นรูปแปดเหลี่ยมมุงด้วยกระเบื้องไม้ มีลักษณะพิเศษคือเป็นพระที่นั่งที่มีการเข้าสลักไม้แทนตะปู ซึ่งเป็นการนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้มาใช้ในงานสถาปัตยกรรม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2507 ได้มีการรื้อถอนองค์พระที่นั่งเพื่อสร้างเป็นศาลากลางจังหวัด

ปัจจุบัน จังหวัดระนองได้มีสร้างพระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) ขึ้น บนเนินเขานิเวศน์คีรีใกล้เคียงกับบริเวณเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์การประทับแรมของพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดระนอง

สถาบันพระปกเกล้า. (2543). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต พุทธศักราช 2471. สถาบัน.
รัชกร คงเจริญ. ( 11 ตุลาคม 2565). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชกรณียกิจเมื่อครั้งเสด็จฯ จังหวัดระนอง. ห้องสมุด มสธ. https://library.stou.ac.th/2022/10/king-prajadhipoki-visit-ranong-province/

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น