๑๕
ราชสกุล “สวัสดิวัตน์”

ราชสกุลสวัสดิวัตน์ เป็นราชสกุลพระราชทานที่สืบสายจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ต้นราชสกุลและเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเป็นพระราชบิดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

นามสกุลพระราชทาน

นามสกุลพระราชทาน หมายถึง นามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ สำหรับในสยามประเทศนั้นแรกเริ่มจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น และในพระราชบัญญัติขนานนามสกุล ปี พ.ศ. 2456 ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนถึงการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ  ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า 

“….ทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรจะมีบัญญัติวิธีจดฐะเบียรคนเกิด  คนตาย  และ  ทำงานสมรส  ให้เปนการมั่นคงชัดเจนสืบไป  แลวิธีจดฐะเบียรอันนี้ย่อมอาศรัยสอบสวนตำหนิรูปพรรณสัณฐานบุทคนแลเทือกเถา เหล่ากอสืบมาแต่บิดามารดาใด  ให้ได้ความแม่นยำก่อนจึงจะทำได้  เพื่อจะให้เป็นผลสำเร็จดังพระราชประสงค์นี้ทรงพระราชดำริห์ว่าบุทคนทุก ๆ คนจำ ต้องมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล  แลวิธีขนานนามสกุลนั้น  ควรให้ใช้แพร่ลายทั่วถึงประชาชนพลเมืองตลอดทั้งพระราชอาณาจักร  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติโดยบทมาตราไว้ต่อไปดังนี้…”

พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ ได้ประกาศ ณ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 และได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 29 หน้า 283 – 288 ลงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2455 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 และได้เลื่อนเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 2 คราว เป็นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2457 และบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2458

การพระราชทานนามสกุล “สวัสดิวัตน์”

การพระราชทานนามสกุลสำหรับเชื้อพระวงศ์นั้นมีหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกรมราชเลขานุการ เรื่อง พระราชทานนามสกุล สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 4 นั้น โดยเริ่มจากการประกาศแจ้งความให้ผู้ที่สืบสายราชตระกูลมาขอพระราชทานนามสกุล เพื่อที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานนามสกุล เพื่อเป็นพระกรุณาขอพระราชทานนามสกุลไว้สำหรับพระนัดดา และพระโอรส เพื่อสืบเชื้อพระวงศ์ต่อไป

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นการอันสมควรแล้วที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขนานนามสกุลพระราชทานไว้สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์นั้น ๆ ให้เป็นศรีสวัสดิ์จิรฐิติกาลสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล โดยในราชกิจจานุเบกษามีการประกาศนามสกุลสำหรับเชื้อพระวงศ์จำนวน 24 พระนาม โดยในลำดับเลขที่ 23 คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ ได้รับนามพระราชทานนามสกุลว่า “สวัสดิวัตน์ (Svastivatana)

ต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์

ราชสกุล “สวัสดิวัตน์” จึงเป็นราชสกุลที่สืบสายจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นมหาอำมาตย์เอก มหาเสวกเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) และเป็นพระโสทรอนุชาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้งเป็นพระราชบิดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งประสูติจากพระชายา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี ซึ่งพระโอรสและพระธิดาที่ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี 5 องค์ คือ

1) หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัตน์
2) สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
3) หม่อมเจ้านนทิยาวัด สวัสดิวัตน์
4) หม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์
5) หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์

นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ มีพระชายาและหม่อมรวม 10 ท่าน และมีพระโอรสธิดารวมทั้งหมด 48 องค์ เป็นพระโอรส 22 องค์ และพระธิดา 26 องค์ และในปัจจุบันท่านมีพระนัดดาสืบเชื้อสาย “สวัสดิวัตน์” รวมกว่า 69 คน

ผู้สืบเชื้อสายราชสกุล “สวัสดิวัตน์”

         โดยในปัจจุบันคนดังราชสกุล “สวัสดิวัตน์” ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในประเทศไทยก็มีหลากหลายท่าน เช่น หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ เป็นเจ้านายฝ่ายหน้าที่ชันษาสูงที่สุดในปัจจุบัน หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินแห่งชาติและเป็นที่รู้จักจากการเป็นนักชิมอาหารและจัดระดับความอร่อยของร้านอาหารในชื่อ “เชลล์ชวนชิม” หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ (คุณหมึกแดง) เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำอาหาร หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์ (คุณอิงค์, ปิ่นโตเถาเล็ก) กรรมการในรายการมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ และประธานสถาบันของรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย และคุณกรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา นักแสดงและนายแบบชื่อดัง

เอกสารอ้างอิง

พระราชบัญญัติขนานนามสกุล ปี พระพุทธศักราช 2456. (2458, 30 มีนาคม) ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 29. หน้า 283-288.
พระราชวังพญาไท. (ม.ป.ป.). นามสกุลพระราชทาน. http://www.phyathaipalace.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=539655180&Ntype=7
ประกาศพระราชทานนามสกุลสำหรับสืบเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 4. (2458, 18 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 32. หน้า 135-138.
วิกิพีเดีย. (13 ธันวาคม 2566) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์. https://th.wikipedia.org/สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์

ผู้เรียบเรียง

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น