๒๐
ย้อนประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ รัฐพิธีเปิดประชุมสภาครั้งแรก 10 ธันวาคม 2476

รัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นพิธีการสำคัญของประเทศไทย หลังจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อประกาศให้ประชาชนในประเทศได้รับทราบว่า มีคณะบุคคลเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการปกครองบริหารประเทศ ดังข้อความที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยามหิธรเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญไปอ่านเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า

วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ” 

รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก

รัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 ในวันรุ่งขึ้นที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินไปในรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชดำรัสมีลักษณะเป็นรายงานของรัฐบาลซึ่งพระมหากษัตริย์รับสั่งแทน ทำนองเดียวกับที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้แก่ การกล่าวถึงความเป็นมาของเหตุการณ์บ้านเมืองตั้งแต่พระราชทานรัฐธรรมนูญ ผ่านความผันผวนต่าง ๆ จนถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 และการประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ในวันเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ประเภท ได้ประชุมร่วมกันและได้เลือก พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476

เหตุการณ์ในรัฐพิธีเปิดประชุมสภา เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งมีหน้าที่เตรียมการพระราชพิธีด้านส่วนพระองค์เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มพระอิสริยยศตามขัตติยราชประเพณี และได้มีพระกระแสรับสั่งต่อเจ้าพระยาวรพงษ์ฯ ว่า มิให้อัญเชิญพระสังวาลย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มาให้ทรง แต่ให้ใช้องค์จำลอง และมิให้ใช้พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ของพ่อขุนรามคำแหงมาใช้ ให้ใช้ที่จำลองเช่นกัน โดยรับสั่งว่า

“สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ดี พ่อขุนรามคำแหงฯ ก็ดี ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่สร้างความสุขสมบูรณ์แก่บ้านเมือง ฉันรักษาบ้านเมืองให้สุขสมบูรณ์ไม่ได้ อย่าให้ฉันใช้สมบัติของท่านเลย”


ในช่วงแรกนี้ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยังคงร่วมทำงานกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวง ในขณะที่ฝ่ายคนรุ่นหนุ่มและสมาชิกคณะราษฎรเป็นรัฐมนตรีลอย แต่ในระยะถัดมา ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2477 และกลางปี พ.ศ. 2478 เป็นต้นไป ฝ่ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ถอนตัวไปตามลำดับ และสมาชิกคณะราษฎรรวม 4 คนได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญแทน ได้แก่ หลวงพิบูลสงครามเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและการต่างประเทศตามลำดับ หลวงสินธุสงครามชัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยต่อจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ ประเภทที่สองและทรงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร พระองค์เสด็จฯ เข้ารับผ่าตัดพระเนตรในต่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 

อย่างไรก็ดี รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาผู้แทนราษฎรยังคงจัดประชุมเรื่อยมา และมีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทุกฉบับอีกด้วย ดังข้อความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 122 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ว่า

 “พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้”


สำหรับรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะยังเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดต่อกันมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาด้วยพระองค์เอง 33 ครั้ง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้กระทำพิธีเปิดประชุม 6 ครั้ง และผู้แทนพระองค์ มีจำนวน 4 ครั้ง  พิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งล่าสุด และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเปิดประชุมรัฐสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ สำหรับพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน

ปัทมพร ทัศนา. (2564). รัฐพิธีเปิดประชุมสภา. พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
พฤทธิสาณ ชุมพล. (2563). รัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 และการเสด็จฯ ออกไปประพาสยุโรป. สถาบันพระปกเกล้า. 
เดอะสแตนดาร์ด. (2566). ย้อนประวัติ 90 ปีรัฐพิธีเปิดประชุมสภาไทย จาก 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงประชาธิปไตย 2566. https://thestandard.co
นายหนหวย. (2530). เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ. พิมพ์ครั้งที่ 3. ศิลปชัย ชาญเฉลิม

ภัทราวดี พลบุญ นักเอกสารสนเทศ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น