๒๙
ตำนานความรักในรัชกาลที่ 7

ตำนานความรักที่ถือว่าเป็น “รักเดียวใจเดียว” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นั้น พระองค์ทรงมีความรักต่อผู้หญิงคนหนึ่งและมีเพียงคนเดียวเท่านั้นตลอดพระชนม์ชีพ นั่นก็คือ “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี”

รักแรกพบ ณ วังพญาไท

รักแรกพบระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าพระเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนั้น เริ่มต้นที่วังพญาไท เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 7 ดำรงพระอิสริยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมสุโขทัยธรรมราชา” ได้เสด็จนิวัติเมืองสยามหลังจากสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2457  โดยพระองค์จะเสด็จไปเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีอยู่เสมอ และในบางโอกาสก็ประทับแรม ณ พระราชวังพญาไท จึงทำให้ทรงรู้จักกับบรรดาพระประยูรญาติหม่อมเจ้าหญิงหลายพระองค์ รวมทั้งกุลสตรีข้าหลวงที่พระบรมราชชนนีทรงชุบเลี้ยงไว้ทั้งหลาย

เนื่องด้วยพระอุปนิสัยของพระองค์ทรงมีพระเมตตาชอบเล่นหยอกล้อกับบรรดาเจ้านายรุ่นเด็ก ๆ อยู่เสมอ หากใครที่มีโอกาสได้พูดคุยหรือใกล้ชิดกับพระองค์มักติดอกติดใจเพราะว่าทรงคุยสนุกเป็นกันเองไม่ถือพระองค์ และมักโปรดให้ตามเสด็จไปในที่ต่าง ๆ ด้วยเสมอ ซึ่งหนึ่งในบรรดาเจ้านายนั้นก็มีหม่อมหญิงรำไพพรรณีรวมอยู่ด้วย 

จึงเป็นเหตุให้ทั้งสองพระองค์ทรงมีโอกาสได้พบปะจนมีความสนิทสนมใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น และเกิดเป็นความสนพระราชหฤทัยในหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ดังคำบอกเล่าในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ที่ทรงพระนิพนธ์ใน “เกิดวังปารุสก์” เล่ม 1 ความตอนหนึ่งว่า

“ทูลหม่อมอาเอียดน้อย ตรัสว่าเมื่อทรงผนวชอยู่นั้นเสด็จปู่พระได้แนะนำว่าควรจะทรงผนวชอยู่เสียเลย ทั้งนี้เพราะทรงเป็นน้องสุดท้อง ฉะนั้นในทางราชการตำแหน่งสำคัญ ๆ พี่ ๆ ก็คงจะทรงได้ไปเสียหมดไม่น่าจะมีหวังได้เป็นใหญ่โตได้ ถ้าทรงครองผ้าเหลืองอยู่ตลอดไปจะทรงได้มีโอกาสเป็นใหญ่ในบรรดาพระได้แน่ ทูลกระหม่อมอาเอียดน้อยทูลตอบโดยตรงว่า จะทรงผนวชเลยไม่ได้ เพราะท่านทรงติดผู้หญิงเสียแล้ว และ “ผู้หญิง” ที่พระองค์ทรงกล่าวถึงนั้นก็คือ “หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์” นั่นเอง”

พระราชหัตถเลขาแห่งความรัก

หลังจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงผนวชครบไตรมาสแล้วทรงลาสิกขาต่อสมเด็จพระราชอุปัชฌายาจารย์ และได้ทรงกลับเข้ารับราชการในกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่าทรงมีพระหฤทัยผูกพันในหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรส ซึ่งในหนังสือลายพระหัตถ์ฉบับดังกล่าวได้ปรากฏความในพระทัยที่ทรงมีต่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีอย่างบริสุทธิ์จริงใจและเปิดเผย ดังความตอนหนึ่งว่า

“…บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้า ได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพพรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ…” (อ้างใน ราชเลขาธิการ 2531: 15)

การสมรส 2 วัฒนธรรมครั้งแรกในสยาม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความแล้ว พระองค์ทรงเป็นพระบรมเชษฐาธิราชจึงได้โปรดเกล้าฯ ขอหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีต่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตวิศิษฎ์ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชาด้วยพระองค์เอง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดอยุธยา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 เวลา 14:00 น.

โดยพระราชพิธีอภิเษกสมรสในครั้งนี้ถือว่าเป็น พระราชพิธีอภิเษกสมรสครั้งแรกในสยาม และได้นำแบบอย่างของการสมรสแบบตะวันตกมาปรับใช้ในบางขั้นตอน คือ “การตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรสถึงความสมัครใจ” เพื่อเป็นคำมั่นสัญญาต่อกันระหว่างคู่สมรส และมีพิธีการรดน้ำสังข์ตามประเพณีแบบไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ จากนั้นองค์คู่อภิเษกได้ทรงลงพระนามใน “ทะเบียนแต่งงาน” ซึ่งถือว่าเป็นการริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรสในพระราชวงศ์เป็นครั้งแรก รวมทั้งมีการพระราชทาน “ของชำร่วย” เป็นแหวนทองลงยาประดับเพชร โดยมีจารึกข้อความว่า “อภิเษกสมรส” แด่เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ที่ทรงลงพระนามเป็นพยานในทะเบียนสมรส และมีพิธีอันทรงเกียรติ “ลอดซุ้มกระบี่” ที่มาจากคำสัมภาษณ์ของหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ จึงถือได้ว่าพระราชพิธีอภิเษกสมรสในครั้งนี้เป็นการแต่งงานผสมผสาน 2 วัฒนธรรมระหว่างพิธีการแบบตะวันตกและพิธีการแบบไทยครั้งแรกของสยามประเทศ และกลายเป็นต้นแบบของการสมรสในประเทศไทยสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน

หลังจากอภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จไปประทับเรือนหอพระราชทาน ณ“วังศุโขทัย” ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระมงกกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี ได้ออกพระราชทรัพย์สร้างพระตำหนักหอพระราชทานเป็นของขวัญแก่ทั้งสองพระองค์

รักเดียวใจเดียวในพระปกเกล้าฯ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ยังทรงรับราชการตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ส่วนพระชายาทรงปฏิบัติพระภารกิจเป็นแม่ศรีเรือนภายในพระตำหนัก คำให้สัมภาษณ์ของนายพุด สุขไพศาล ซึ่งเป็นข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้หนึ่งได้เล่าไว้ว่า

“เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนศุโขทัยฯ ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ได้ประทับอยู่ที่พระตำหนักใหญ่วังศุโขทัย ตอนเช้าเสวยร่วมกันเพียงสองพระองค์ที่ห้องทางทิศใต้ชั้น 2 …หลังเสด็จกลับจากทรงงาน หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีจะเสด็จมารับที่อัฒจันทร์ด้านล่าง และเสวยพระสุธารสร่วมกันตอนห้าโมงเย็น โดยทรงถือปฏิบัติเป็นเวลา… หลังจากนั้นจะเสด็จขึ้นและเสวยพระกระยาหารค่ำด้วยกันเพียงสองพระองค์ ทั้งสองพระองค์จะเสด็จลงพระตำหนักไม้สัปดาห์ละครั้ง เพื่อทอดพระเนตรหนัง และโปรดให้เจ้านายร่วมดูหนังด้วย…”

          

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 จึงได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และได้ทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสรับสั่งให้มี “พิธีสถาปนาสมเด็จพระราชินี” ครั้งแรกในสยาม พร้อมทั้งประกาศเฉลิมพระนามหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา เป็น “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี” ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีความเป็นสุภาพบุรุษผู้ละเอียดอ่อน ยกย่องเชิดชูในความดีและความรัก และเพื่อเน้นบทบาทสำคัญในฐานะองค์อัครมเหสี อันเป็นแนวคิดการครองคู่แบบสากล

นอกจากนี้ทั้ง 2 พระองค์ ยังได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สำคัญแก่บ้านเมืองอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จเยี่ยมราษฎร์ในประเทศและการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ โดยการเสด็จเยือนต่างประเทศครั้งแรกในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี ชาวต่างชาติก็ต่างชื่นชมพระสิริโฉมอย่างเห็นได้ชัด ดังความในพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานแก่พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ควรพินิจเกี่ยวกับการรับเสด็จที่สิงคโปร์ว่า

“พวกที่มาเฝ้านั้นมองดูหญิง (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ) กันมาก และยิ้มแย้มแจ่มใสเห็นจะเมาลม (ตกหลุมรัก) ตามเคย”

พระคู่ขวัญในวิกฤติทางการเมือง

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองในสยามประเทศ โดยขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไประทับแรมที่พระตำหนักวังไกลกังวล ซึ่งตอนนั้นคณะราษฎรได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินกลับคืนสู่พระนคร เพื่อเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่คณะราษฎรได้สร้างขึ้น ในครั้งนั้นไม่มีผู้ใดทราบได้ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงมากเพียงใด จึงเป็นการตัดสินพระทัยอย่างยากยิ่งว่าจะต่อสู้ยึดอำนาจคืนหรือจะหลบหนีออกนอกพระราชอาณาจักร หรือจะกลับเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น

ในวิกฤติทางการเมืองครั้งนี้ พระองค์ทรงให้ “ผู้หญิง” ของพระองค์เป็นผู้ตัดสินใจ ทรงให้เกียรติและยอมรับการตัดสินใจในครั้งนั้นอย่างเต็มที่ โดยเห็นได้จากพระราชหัตเลขาภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเล่าเหตุการณ์ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ ความว่า

“…เลยตกลงใจเสี่ยงโดยให้ผู้หญิงเขาเลือก ทั้งหญิง และหญิงอาภา ตกลงเลือกให้กลับอย่างแน่วแน่ และฉันเห็นว่าทั้งสองควรได้รับเกียรติอย่างเต็มที่ในการตกลงใจอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเช่นนั้น เพราะในเวลานั้นเราอาจะกลับไปสู่ความตายก็ได้ ผู้หญิงเขาเลือกเอาความตายดีกว่าการเสียศักดิ์ (คือการหนี) เท่านั้นก็พอแล้วสำหรับฉัน”

พระราชหัตเลขานี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสุภาพบุรุษที่ละเอียดอ่อน มีพระราชหฤทัยที่สูงส่งในความรักและเห็นอกเห็นใจในสตรีต่อเหตุการณ์ที่จะต้องให้มีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตที่วิกฤติขณะนั้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และในระบบประชาธิปไตยพระองค์แรกที่เป็นผู้ทรงมีรักเดียวใจเดียวและครอบครัวเดียว พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมัยใหม่ผู้มีทัศนะกว้างไกล ปฏิเสธการเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง โดยจะให้อีกฝ่ายหนึ่งได้มีอิสระในการตัดสินใจร่วมด้วยเสมอ และความมั่นคงในความรักต่อผู้หญิงเพียงคนเดียวตลอดพระชนม์ชีพ ย่อมเป็นการยืนยันในอุดมคติของ “รักเดียวใจเดียว” ว่าเป็นทัศนะของพระองค์ผู้ทรงตะหนักในศักดิ์ของผู้หญิงและซึ้งคุณค่าแห่งความรักของกันและกัน

ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

เอกสารอ้างอิง

กิตติพงษ์ วิฌรจน์ธรรมากูร. (2547). เรื่องรัก…รัก…ในวังหลวง. ดอกหญ้า.
บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. (2536). ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.
สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2557). 120 ปี ผ่านฟ้า ประชาธิปกสำนัก.
หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2547). พระปกเกล้า-รำไพพรรณี : พระคู่ขวัญแผ่นดินสยาม. หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ผู้เรียบเรียง

ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ สำนักบรรณสารสนเทศ มสธ.

ร้อยเรียงเรื่องราวสู่บทความ 130 เรื่องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร และพระราชนิยม
ผลงานและเหตุการณ์สําคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 อันเป็นผลผลิตของโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้พระปกเกล้าศึกษาสู่ชุมชน
เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 8 พฤศจิกายน

เชิญตอบแบบสำรวจการใช้บริการห้องสมุด เพื่อปรับปรุงการบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น